ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (31 ส.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (31 ส.ค.66) ที่ระดับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.10 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่า แต่ยังเป็นการเคลื่อนไหวที่ผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 34.94-35.12 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง คาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส2 (Q2 GDP growth) และยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ได้ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทได้อ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินดอลลาร์มีการรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย
 
รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ยังคงช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลางการทยอยปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ซึ่งภาพดังกล่าวยังคงช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้นต่อ (Apple +1.9%, Alphabet +1.0%) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.38%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.15% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -0.7%) 

ในฝั่งตลาดบอนด์ การปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของผู้เล่นในตลาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.11% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนักจากวันก่อนหน้า เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.1 จุด (กรอบ 102.9-103.5 จุด) ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ทว่าเงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงหนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้าน 1,975 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,971 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ทั้งอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนกรกฎาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะนี้ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอลงมากขึ้น

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ว่าจะสามารถปรับขึ้นได้อีกกี่ครั้ง หลังจากที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่และบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ +25bps เพียงอีกครั้งเดียว

และในฝั่งเอเชีย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีน (Manufacturing & Services PMIs) โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจจีนจะยังคงซบเซาต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนสิงหาคม ที่อาจลดลงสู่ระดับ 49 จุด และ 50.9 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวจะยิ่งชี้ว่า ทางการจีนจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงหนัก ทั้งนี้ หากรายงานดัชนี PMI ออกมาย่ำแย่กว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินเอเชียและทำให้สกุลเงินฝั่งเอเชียเคลื่อนไหวผันผวนได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังพอได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังตลาดทยอยปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อและโอกาสการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานของเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวอาจดำเนินต่อไปได้ ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นยังคงออกมาแย่กว่าคาด แต่เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อาจเริ่มจำกัดลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในวันศุกร์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าปรับสถานะการถือครองไปมากนัก อนึ่ง เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติได้บ้าง หลังนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมากขึ้น ขณะที่ฟันด์โฟลว์ในฝั่งตลาดบอนด์ยังมีความไม่ชัดเจนนัก โดยเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอให้มั่นใจต่อแนวโน้มบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อน 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังพอมีอยู่บ้าง โดยผู้เล่นในตลาดอย่างผู้นำเข้าบางส่วนอาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับที่เราเคยประเมินไว้แถว 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน รวมถึงช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าทะลุโซนแนวรับดังกล่าวได้ง่ายนัก ขณะที่โซนแนวต้าน อาจยังอยู่ในช่วง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ เว้นว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทจะกลับมาชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ตลาดมองเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อเกิน 60% อีกครั้ง ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใส หรือ ดีกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2566 เวลา : 09:12:09

29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 6:38 pm