ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด(27 ก.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (27 ก.ย.66)  ที่ระดับ  36.42 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.36 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 36.29-36.48 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน และความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง ซึ่งเราคาดว่า โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน 

ดัชนี S&P500 ดิ่งลงแรงกว่า -1.47% หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งออกมาสนับสนุนการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงส่งผลให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจาก ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) ซึ่งความกังวลดังกล่าวยังได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นและทรงตัวเหนือระดับ 4.50% ส่งผลให้หุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ต่างปรับตัวลงแรง (Amazon -4.0%, Apple -2.3%)  นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเกิด Government Shutdown หากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวได้ทันกำหนด  
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อราว -0.61% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -2.2%) จากความกังวลแนวโน้มบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ยังคงกดดันให้ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -1.5%) และกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -0.6%) ต่างปรับตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเลือกลงทุนในหุ้นสไตล์ Defensive ไปก่อนในระยะสั้นนี้ 
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและข้อมูลตลาดบ้าน จะออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน แต่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องของเฟด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นและทรงตัวเหนือระดับ 4.50% อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากปัจจัยอาทิ 1) ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินเฟด ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญและท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด 2) ปัญหาการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ Government Shutdown ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งของสหรัฐฯ ได้ แต่เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับ 4.50% มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก (Very Attractive) และมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้นจากที่เราเคยประเมิน ทำให้เราคงแนะนำให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยความกังวลแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญแถว 106 จุด (กรอบ 105.8-106.3 จุด) ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดไว้ว่า ดัชนีเงินดอลลาร์อาจไม่สามารถทะลุโซน 106 จุด ไปได้ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,919 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจลดลงสู่ระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาจะอยู่ที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเราประเมินว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีมติ “ไม่เป็นเอกฉันท์” ขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 2.50% ท่ามกลางแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบของภาวะ El Nino, ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของการบริโภคตามแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ทั้งนี้ ควรจับตามุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ และค่าเงินบาทได้ในช่วงนี้ 

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ ECB หลังอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนและภาพเศรษฐกิจโดยรวมต่างก็ชะลอลงมากขึ้น 

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) รวมถึงยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลัง ซึ่งอาจมีผลต่อราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ล่าสุด เงินบาทได้อ่อนค่าต่อเนื่องทะลุแนวต้านหลักในระยะสั้น แถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์, แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ, โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึง โฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนเอเชีย และกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าเช่นกัน 

อนึ่ง การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงแถวโซนแนวต้านได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้น ผลการประชุม กนง. ในช่วงบ่ายของวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นรอบการประชุมที่บรรดานักวิเคราะห์มีมุมมองว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ย (เหมือนที่เราคาด) และ กนง. อาจคงดอกเบี้ย ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน สะท้อนถึงความไม่แน่นอนต่อการปรับนโยบายการเงินในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี หากผู้เล่นในตลาดประเมินว่า รอบการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ได้จบลงแล้ว หรือ ใกล้จบลงแน่นอน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน เริ่มทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ในช่วงระยะกลาง-ระยะยาว ซึ่งอาจเห็นการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ราว 5-10bps ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในวันนี้ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. 

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.30-36.50 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. 

และประเมินกรอบเงินบาท 36.20-36.65 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. (หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 36.50 บาทต่อดอลลาร์)

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2566 เวลา : 10:16:36

20-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 20, 2024, 6:43 am