ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (25 ต.ค.66) ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 36.17 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (25 ต.ค.66) ที่ระดับ  36.17 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideway (แกว่งตัวในช่วง 36.14-36.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลดัชนี PMI ฝั่งยุโรป ออกมาแย่กว่าคาด ในขณะที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกจำกัดโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ 

รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.73% ทั้งนี้ 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นราว +0.44% แม้ว่า ตลาดหุ้นยุโรปจะเผชิญแรงกดดันจากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของฝั่งยูโรโซนที่ออกมาแย่กว่าคาดและยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Hermes +2.8%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ รายงานดัชนี PMI สหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด จะยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดอาจสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) และช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.88% แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยทำกำไรสถานะ Short ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ไกลและพลิกกลับมาย่อลงสู่ระดับ 4.82% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงมีความผันผวนอยู่ และจะยังไม่สามารถกลับมาเป็นแนวโน้มขาลงได้ง่าย จนกว่าตลาดจะเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง และเฟดอาจไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบ Higher for Longer ได้ ทว่า เราคงคำแนะนำเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอย Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก Risk-Reward ของการถือบอนด์ระยะยาวในช่วงยีลด์สูงมีความคุ้มค่าและน่าสนใจอยู่มาก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังรายงานข้อมูลดัชนี PMI สหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ดัชนี PMI ฝั่งยุโรป ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 105.8-106.4 จุด) อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลสถานการณ์สงครามที่เริ่มลดลงบ้าง รวมถึงการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลง ตามแรงขายทำกำไร ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ซึ่งช่วยหนุนให้ราคาทองคำทยอยปรับตัวขึ้นและแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไม่ต่างจากช่วงก่อนหน้ามากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 (วันพฤหัสฯ) รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ PCE (วันศุกร์) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้บ้าง หลังในช่วงที่ผ่านตลาดดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควรและอยู่ในระดับที่ valuation ถือว่าไม่แพง ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในระดับเดิมและไม่ได้ปรับตัวขึ้นรุนแรงแบบในช่วงก่อนหน้า เรามองว่า แรงขายบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็อาจลดลงบ้างในช่วงระยะสั้นนี้ 

นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแรกแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกันโซนแนวรับอาจยังคงเป็นช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาด 

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ต.ค. 2566 เวลา : 08:16:52

05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 10:11 pm