ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (1 พ.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 พ.ย.66) ที่ระดับ  36.12 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.96 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.93-36.17 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงหนักของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผลการประชุม BOJ ไม่ได้ปรับนโยบาย Yield Curve Control อย่างที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำสู่โซนแนวรับระยะสั้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่กลับมากดดันเงินบาทเช่นกัน ผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นผลการประชุมเฟด (รับรู้ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.65% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.59% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะเผชิญแรงกดดันบ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สะท้อนภาพการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจยูโรโซน ทว่าภาพดังกล่าวกลับทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง (ASML +2.4%, SAP +0.9%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน (Higher for Longer) ในการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.93% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างในสัปดาห์นี้ แต่เรามองว่า จุดสูงสุดก็น่าจะอยู่ใกล้แถว 5% ทำให้เรายังคงแนะนำ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว โดยรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยเข้าซื้อ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงหนัก ทะลุระดับ 151 เยนต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังต่อการปรับมาตรการ Yield Curve Control ของ BOJ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.7 จุด (กรอบ 105.9-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลการประชุมเฟด ที่จะรับรู้ในช่วงราว 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย โดยจากการประเมินถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต่างกังวลต่อแนวโน้มภาวะการเงิน (Financial Conditions) ที่ตึงตัวมากขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ (โอกาส 95.8% จาก CME FedWatch Tool) และสถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ เรามองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% อย่างไรก็ดี เราจะจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงหลังรับรู้ผลการประชุม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ และนอกเหนือจากผลการประชุมเฟด เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP รวมถึง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะถูกรับรู้ก่อนผลการประชุมเฟด ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนสูงได้พอสมควร

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้เช่นกัน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มกลับมาบ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงหนักของเงินเยนญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ราคาทองคำ ก็ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในช่วงย่อตัว อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลงก็อาจติดโซนแนวต้านแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีความผันผวนสูงในช่วงนี้ แต่เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติก็อาจชะลอลงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ตั้งแต่ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ไปจนถึงช่วงรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน (Higher for Longer ) ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้ดีไปกว่าคาดชัดเจน หรือ เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด เรามองว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด

และประเมินกรอบ 35.90-36.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ย. 2566 เวลา : 10:30:03

07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 10:41 am