ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (6 พ.ย.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 พ.ย.66)ที่ระดับ  35.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  35.71 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 35.41-35.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และดัชนี ISM Services PMI ล่าสุด ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -100bps (-1%) นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้บ้าง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนัก หลังผลการประชุมเฟดล่าสุดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ตลาดเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด พร้อมติดตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสและพันธมิตร

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานและดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงผลการประชุมเฟดล่าสุด ที่สะท้อนว่า เฟดอาจถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยจากข้อมูล CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมและอาจลดดอกเบี้ยลงราว -100bps (-1%) ในปีหน้า และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ฝั่งยุโรป – เรามองว่า เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผ่าน อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่จะขยายตัวเพียง +0.5%y/y นอกจากนี้ ภาพเศรษฐกิจยูโรโซนก็มีทิศทางชะลอลงเช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน อาจหดตัวต่อเนื่องราว -0.2% ซึ่งจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซนดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลาง และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาทิศทางตลาดหุ้นยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้จะมีการรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนพอสมควร อีกทั้งในช่วงนี้ ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ ก็เคลื่อนไหวผันผวนตาม ทิศทางตลาดหุ้นยุโรป

ฝั่งเอเชีย – เราประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียที่ชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อาจทำให้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.10% (ตลาดมองขึ้นดอกเบี้ย สู่ระดับ 4.35%) ส่วนในฝั่งจีน การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนตุลาคม อาจยังคง “หดตัว” เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ราว -2.9% และ -4.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจจีน จะทำให้ อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ -0.2% ซึ่งจากภาพดังกล่าวอาจเพิ่มโอกาสที่ ทางการจีนพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังได้

ฝั่งไทย – เรามีมุมมองที่ต่างจากบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนตุลาคม โดยเรามองว่า ผลของฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงานและราคาเนื้อสัตว์ จะส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัว -0.7%m/m หรือ -0.7%y/y (ตลาดมอง +0.1%y/y) ทั้งนี้ เรามองว่า การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้ส่งผลให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่อาจทำให้วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยได้สิ้นสุดลงแล้วที่ระดับ 2.50%

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หรือ ทำกำไรสถานะ Long THB นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีทิศทางไม่ชัดเจน โดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจยังเข้าซื้อบอนด์ไทยได้ หากอัตราเงินเฟ้อของไทยชะลอลงมากขึ้น หรือ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทรงตัว/ย่อตัวลง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ก็อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideway หรือ อ่อนค่าลง ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่ยังคงร้อนแรงอยู่ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ของจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.25-36.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาท/ดอลลาร์

LastUpdate 06/11/2566 11:09:35 โดย :

07-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 7, 2024, 9:55 am