ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (13 พ.ย.66) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 พ.ย.66) ที่ระดับ  36.10 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  35.89 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.88-36.10 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ซึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นและบอนด์โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงวันศุกร์
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน พร้อมติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักและลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

 
 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า การปรับตัวลดลงของราคาพลังงานอาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น +0.1%m/m หรือ +3.3%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทว่า ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน อาจยังคงเพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.1%y/y หลังราคาสินค้าบางส่วนอาจชะลอตัวในอัตราน้อยลง อาทิ ราคารถยนต์มือสอง ซึ่งการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ช้ากว่าที่เฟดต้องการ อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (ซึ่งต้องรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น กอปรกับแนวโน้มการบริโภคของสหรัฐฯ ที่จะชะลอลงมากขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น (หลัง 20% ชาวอเมริกันจะเริ่มกลับมาจ่ายหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ Student Loans) และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ก็อาจทำให้ เฟดไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ นอกจากนี้ หากสมมติฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) นั้นถูกต้อง เราคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลง ได้เร็วขึ้นและมากกว่าที่ตลาด รวมถึงเฟดกำลังคาดการณ์อยู่ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจส่งผลให้ ทั้งบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้พอสมควร 

* ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 อาจขยายตัวเพียง +0.1%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีทิศทางชะลอลง อาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับล่าสุด เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ก็อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง หากอัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ 4.7% จาก 6.7% ในเดือนก่อนหน้า หลังภาพรวมเศรษฐกิจอังกฤษก็ชะลอตัวลงเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจยูโรโซน ทั้งนี้ ในช่วงนี้ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งยุโรป เราประเมินว่า สกุลเงินฝั่งยุโรปอาจผันผวนไปตาม ทิศทางตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

* ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของจีน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจจีนแม้จะมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ในเดือนตุลาคม สะท้อนผ่านยอดค้าปลีกที่อาจโต +7.7%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจขยายตัว +4.5% และ +3.1% ตามลำดับ ทว่า ภาพการฟื้นตัวดังกล่าวก็ยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจลดอัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 2.40% เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 อาจพลิกกลับมาหดตัวลง -0.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังภาคการส่งออกชะลอตัวลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ขณะเดียวกัน ยอดการนำเข้าก็ปรับตัวสูงขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่นและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยโมเมนตัมเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอลงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้ในปีนี้ ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดมองว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.50% หลังจาก BSP ได้เซอไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน จากความกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้ากว่าที่ BSP ต้องการ

* ฝั่งไทย –ตลาดการเงินไทยอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อมาตรการ Digital Wallet โดย หากพิจารณาจากแรงขายหุ้นและบอนด์ รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทล่าสุด อาจประเมินได้ว่า ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทยมากขึ้น

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ หลังตลาดกลับมากังวลทั้งประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทย นอกจากนี้ ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีทิศทางไม่แน่นอน อนึ่ง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยให้ทั้งเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น หรือ ชะลอการอ่อนค่าได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซน 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังวะทยอยขายเงินดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดยังคงกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หรือ เร่งตัวขึ้นสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด และสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจกดดันให้ เงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลง

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของไทยที่กลับมาอีกครั้ง รวมถึง ความกังวลต่อทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.60-36.30 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 พ.ย. 2566 เวลา : 10:39:30

03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 3:09 am