ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (8 ธ.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (8 ธ.ค.66) ที่ระดับ  35.14 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.17 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.11-35.26 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับระยะสั้นของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ โดยรวมเงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคมและอาจลดดอกเบี้ยลง -1.25% ในปีหน้า ขณะเดียวกัน บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์ ตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลงบ้าง

รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยคลายความกังวลของบรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นในธีม AI นำโดย Alphabet +5.3% ที่ล่าสุดได้เปิดตัว AI ใหม่ “Gemini”  ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.37% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.80% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.27% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป จากรายงานข้อมูลยอดผลผลิตอุตสาหกรรมของเยอรมนีและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 3 ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตามภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคมและเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลง ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้ช่วยชะลอการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 4.15% ทั้งนี้ ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่างใกล้ชิด เพราะหาก ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนสูงขึ้นได้ ซึ่ง เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นแรงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลง หลังตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินดอลลาร์ ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.4-104.1 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ราคาทองคำอาจผันผวนสูงขึ้นมาก ในช่วงระหว่างตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ โดยเราคาดว่า หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถว 2,050-2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ 
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจผันผวนไปตาม ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจเริ่มชะลอการขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนหลุดระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นเป้า ณ สิ้นปีนี้ ของเรา ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือ ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในการประชุมที่จะถึงนี้  โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ดังกล่าว อาจกระทบต่อเงินบาทผ่าน การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายเงินเยนญี่ปุ่น หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นเทียบเงินบาท (JPYTHB) ได้ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 24.25 บาทต่อ 100 เยน 

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดไปมาก ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งจะกดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้พอสมควร ขณะที่ หากยอดการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาด หรือ ตามคาด ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก ยกเว้นจะเห็นยอดการจ้างงานลดลงชัดเจน ต่ำกว่า 1 แสนราย 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.25 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ 

และประเมินกรอบ 34.90-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ยอดการจ้างงานสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ธ.ค. 2566 เวลา : 11:07:07

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:46 pm