ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (18 ธ.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (18 ธ.ค.66) ที่ระดับ  35.00 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.82 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 34.77-35.01 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านสำคัญ ก่อนที่จะย่อตัวลงต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์นั้นมาจากถ้อยแถลงของ John Williams ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) ที่ได้ระบุว่า “เฟดยังไม่ได้หารือกันเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ย และยังคงให้ความสำคัญต่อคำถามว่า นโยบายการเงินมีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้หรือไม่” ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้สวนทางกับการส่งสัญญาณของประธานเฟดล่าสุด ที่ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกในปีหน้า
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการประชุมเฟดล่าสุด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าได้ราว 6 ครั้ง หรือ -150bps

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งจะกระทบต่อมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดได้

 
? ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่าสัปดาห์นี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อาจมีไม่มาก ทว่า ควรระวังการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด หลังจากล่าสุดผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว 6 ครั้ง (-150bps) ในปีหน้า ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยที่เร็วและลึกกว่าที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ทำให้ในสัปดาห์นี้ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจออกมาให้ความเห็นเพื่อลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ขณะเดียวกัน ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board, ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และอัตราเงินเฟ้อ PCE โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือ ยังสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่สดใส ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็อาจยิ่งกดดันให้สกุลเงินฝั่งยุโรป อย่าง เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจมองว่า ทั้ง BOE และ ECB ก็มีแนวโน้มที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ไม่ต่างจากเฟด หรือ อาจจะลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกกว่าเฟด หากภาพรวมเศรษฐกิจซบเซาหนักกว่าคาด 

* ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราประเมินว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% ทั้งนี้ เรามองว่า มีความเป็นไปได้ที่ทาง BOJ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย Yield Curve Control (YCC) เพื่อสะท้อนการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หลังภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารสด (Core Core CPI) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 4% โดย BOJ อาจประกาศยกเลิกการทำ YCC ได้ เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การทยอยปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น การทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หาก BOJ เริ่มมองว่า มีแนวโน้มที่ทาง BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เรามองว่า ทาง BOJ ก็อาจพยายามลดความคาดหวังของตลาดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงบ้าง ด้วยการส่งสัญญาณว่า BOJ พร้อมที่จะกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้ ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยง จนอาจทำให้ BOJ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้ อนึ่ง หาก BOJ มีการปรับนโยบายการเงินในเชิงที่เข้มงวดมากขึ้น ตามที่เราประเมินไว้ ก็มีโอกาสช่วยหนุนให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่อาจติดโซนแนวรับหลักแถว 141 เยนต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินดังกล่าวมาพอสมควรแล้ว ขณะที่ หาก BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดตามคาด ก็อาจเปิดความเสี่ยงที่เงินเยนญี่ปุ่นจะอ่อนค่า เร็วและแรง สู่ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก และนอกเหนือจากผลการประชุม BOJ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาท่าทีของทางธนาคารกลางจีน (PBOC) ว่าจะมีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ หลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซากว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ดังจะเห็นได้จากการที่ บรรดานักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ ต่างลดคำแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์จีน โดยเฉพาะ หุ้นจีน เป็น Underweight   

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าเริ่มแผ่วลง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอาจติดโซนแนวรับแถว 34.70 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป คือ 34.50 บาทต่อดอลลาร์) อนึ่ง เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง เนื่องจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้ หลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า +5.4 พันล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนโซนแนวต้านที่สำคัญ คือ โซน 35 บาทต่อดอลลาร์ (โซนแนวต้านถัดไป 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และที่สำคัญทิศทางราคาทองคำ เนื่องจาก โฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้พอสมควร 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดลง ตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจออกมาดีกว่าคาดหรือถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่เน้นย้ำว่าเฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ถ้า BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นตามคาด

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน รวมถึง ความกังวลต่อทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.65-35.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ธ.ค. 2566 เวลา : 10:37:07

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:38 pm