ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด ( 16 ม.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ( 16 ม.ค.67) ที่ระดับ  35.00 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.95 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในช่วง 34.93-35.02 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35 บาทต่อดอลลาร์ บ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดการเงินสหรัฐฯ ปิดทำการในช่วงวันหยุด Martin Luther King Jr. Day ทำให้สินทรัพย์ในตลาดการเงินต่างเคลื่อนไหวในกรอบ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ใช้จังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านในการทยอยขายเงินดอลลาร์เช่นกัน ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งนี้ เราประเมินว่า ตลาดการเงินจะมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น และเสี่ยงผันผวนสูง ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้  

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Martin Luther King Jr. Day อย่างไรก็ดี สัญญาฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการย่อตัวลงบ้าง สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมในช่วงนี้ จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.54% กดดันโดยถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ส่งสัญญาณว่า ECB อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงหนักของหุ้น L’Oreal -4.8% และ HSBC -2.3% ตามการปรับลดคำแนะนำการลงทุนของนักวิเคราะห์

ในฝั่งตลาดบอนด์ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.00% จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะเลิกเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” ในปีนี้ ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง หรือ เห็นความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจกลับมาเร่งตัวขึ้น (ตอนนี้เริ่มมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทำให้ ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น) โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดีกว่าคาด และเรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.5-102.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้โดยรวม ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ยังคงแกว่งตัวในโซน 2,050-2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้น ทดสอบโซนแนวต้านก่อนหน้าแถว 2,070-2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็พอช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งยุโรป โดยเริ่มจากข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ทั้งในส่วนยอดการจ้างงานและอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ส่วนในฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) ซึ่งหากบรรดาข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด ก็อาจสะท้อนว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก จนทำให้ทั้ง ECB และ BOE ต้องรีบลดดอกเบี้ยนโยบายลง และภาพดังกล่าวก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) รีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง  

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Christopher Waller (Voter) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Christopher Waller มักจะให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูง จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ หรือให้ความเห็นต่อนโยบายการเงินในเชิง Hawkish 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และจีน ในช่วงกลางสัปดาห์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในช่วงนี้ เรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง ตามแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าว จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (อาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน) ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่า แต่เรามองว่า ความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คลี่คลายลงไปบ้าง จะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจจำกัดอยู่และจะยังไม่เห็นการอ่อนค่าทะลุเกินแนวต้าน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วน ต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าเหนือโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

อนึ่ง เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เนื่องจาก หากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ก็อาจเห็นแรงขายทำกำไรจากผู้เล่นในตลาด และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่เรายังมองว่า เงินบาทจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือ นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องชัดเจน ทำให้โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นแนวรับสำคัญของเงินบาทในช่วงนี้ 

ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ม.ค. 2567 เวลา : 10:55:05

03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 3:15 am