ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (18 ม.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาด ที่ระดับ  35.60 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.48 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.47-35.71 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม เหลือ 55% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวสู่โซนแนวรับสำคัยแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) รีบาวด์แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ที่สะท้อนว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายพื้นที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ส่วนตลาดแรงงานก็ชะลอตัวลง ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด นั้นออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างย่อตัวลงต่อเนื่อง อาทิ Amazon -1.0%, Alphabet -0.7% กดดันให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.56%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -1.13% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มยานยนต์ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Mercedes -3.2%, LVMH -2.8%, Rio Tinto -1.5% นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง กดดันบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นกัน นำโดย Shell -2.3% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ล่าสุดที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยอย่างที่คาดหวัง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.10% และเสี่ยงที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้ หากผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกในปีนี้ โดยการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็ชะลอการแข็งค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ซึ่งยังย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ก็ไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งมากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังต่อการรีบลดดอกเบี้ยของเฟดอยู่บ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.3-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอเข้าซื้อทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic (Voter) และรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 

ส่วนในฝั่งยุโรป เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานการประชุม ECB ล่าสุด และถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เช่นกัน 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” ตามที่คาดหวัง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ตามการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการปรับตัวลดลงของบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในจังหวะปรับฐาน โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรจับตาแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของทางฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ควบคู่ไปด้วย เพราะหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE ยังคงสะท้อนว่า ทั้งสองธนาคารกลางก็อาจไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน ภาพดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ซึ่งจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งมีน้ำหนักราว 14% ในการคำนวณดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทำให้การผันผวนของเงินเยนญี่ปุ่นก็อาจส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้พอสมควร โดยในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญญี่ปุ่น โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI เพื่อประเมินความเป็นไปได้ ของการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในปีนี้ โดยหากตลาดลดโอกาสที่ BOJ จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องจากระดับปัจจุบันแถว 148 เยนต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญปัจจัยกดดันอ่อนค่าพอสมควร ทว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยจนเข้าใกล้จุดต่ำสุดก่อนหน้า พร้อมกับการอ่อนค่าพอสมควรของเงินบาทในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติรอจังหวะทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยในช่วงปรับฐานอีกครั้งได้ ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ทำให้เราประเมินว่า แนวต้านเงินบาทอาจยังอยู่ในโซน 35.70-35.80 บาทต่อ (ใกล้กับโซนที่เราประเมินเชิง Valuation ว่าเงินบาท Undervalued พอสมควร) ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังขาปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่า ทำให้โซนแนวรับยังอยู่แถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไปคือ 35.00 บาทต่อดอลลาร์)

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 18 ม.ค. 2567 เวลา : 11:31:42

01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 3:12 pm