ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (19 ม.ค.67) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้  (19 ม.ค.67) ที่ระดับ  35.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.58 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.52-35.68 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) สหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด ทั้งนี้ เงินบาททยอยพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเหนือระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็มีส่วนช่วยพยุงให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะยังคงกังวลว่าเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกตามคาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่สดใส ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็สามารถกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia +1.9% ที่ได้รับอานิสงส์จากรายงานผลประกอบการของผู้ผลิตชิพรายใหญ่ TSMC ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของหุ้น Apple +3.3% หลังนักวิเคราะห์ปรับคำแนะนำการลงทุนเป็น “ซื้อ” ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.88%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.59% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Infineon Tech. +4.8%, ASML +4.1% หลังผลประกอบการของ TSMC ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม LVMH +2.5% หลัง Richemont +10.4% ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าหรู เช่น Cartier, IWC ได้รายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะยอดขายในจีนที่เติบโตได้ดี 
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุด ที่ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (Raphael Bostic) ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟดในปีนี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.15% โดยการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาก็สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็ชะลอการแข็งค่าลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.2-103.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) จะถูกกดดันจากความกังวลว่า เฟดอาจไม่ได้รีบปรับลดดอกเบี้ยได้เร็วตามที่ตลาดเคยคาดหวังไว้ ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนแนวรับแถว 2,000-2,010 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง ส่งผลให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งนอกเหนือจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้เล่นในตลาดจะจับตาใกล้ชิดว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะกลางจากรายงานดังกล่าวนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 

ส่วนในฝั่งยุโรป เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะอยู่ในความสนใจของผู้เล่นในตลาด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจรวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้ทยอยปรับลดโอกาสการลดดอกเบี้ย “เร็วและลึก” ของเฟดไปพอสมควรแล้วในสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยสนับสนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด โดยเรายังคงประเมินโซนแนวรับเงินบาทแถว 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เรามองว่า การปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของทั้ง ECB และ BOE ก็จะมีผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์เช่นกัน ดังที่จะเห็นในวันก่อนหน้าที่ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับสูงกว่าคาด ซึ่งในวันนี้เรามองว่า รายงานยอดค้าปลีกของอังกฤษก็จะมีผลต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย BOE และอาจกระทบต่อทิศทางเงินปอนด์อังกฤษและเงินดอลลาร์ได้

นอกจากนี้ ทิศทางราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ยังคงส่งผลต่อเงินบาท โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำได้บ้าง (ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท) หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซนแนวต้านแถว 2,030-2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.65 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ม.ค. 2567 เวลา : 10:58:58

01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 12:09 pm