ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (11 เม.ย.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 เม.ย.67) ที่ระดับ  36.76 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.38 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง “เร็วและแรง” จนแตะโซนแนวต้าน 36.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อน (แกว่งตัวในช่วง 36.34-36.76 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ (โอกาสลด 2 ครั้ง อยู่ที่ราว 67%)  ขณะเดียวกันบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็พุ่งสูงขึ้นทะลุระดับ 4.50% ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดดังกล่าว ส่งผลให้ ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม หลังราคาน้ำมันดิบพลิกกลับมาพุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความร้อนแรงมากขึ้น หากอิหร่านและพันธมิตรเปิดฉากโจมตีอิสราเอลจริง ตามคำเตือนของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงเทขายหนัก กระจายตัวไปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.95%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.15% แม้ว่าจะเผชิญแรงขายจากความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทว่าตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ อาทิ Shell +1.4% ส่วนหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง ASML +1.6% ก็ได้รับอานิสงส์จากรายงานผลประกอบการของผู้ผลิตชิพฯ รายใหญ่ของโลกอย่าง TSMC ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง  

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเร็วและแรง ทะลุระดับ 4.50% ตามความเสี่ยงที่เราประเมินไว้ว่า หากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI จะส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นทดสอบโซน 4.40%-4.50% ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้เราอาจพิจารณาเลื่อนไทมไลน์การปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดไปเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะยังสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ราว 3 ครั้ง ทำให้ เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจ และ Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น (Asymmetric Risk-Reward หากลองประเมิน ผลตอบแทนในกรณีที่ บอนด์ยีลด์ ปรับตัวขึ้น หรือ ลง 50bps หรือแม้กระทั่ง 100bps) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อสะสมได้ (Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมาก เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 153 เยนต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้งในปีนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อที่ดูจะไม่ชะลอลงอย่างที่คาดหวัง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) พุ่งขึ้นใกล้ระดับ 105.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.-105.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การพุ่งขึ้นเร็วและแรงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงกว่า -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทั้งจังหวะซื้อทองคำตอนย่อ และขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด จะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ว่าจะสามารถเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจเร็วกว่าคาดการณ์จังหวะการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด ได้หรือไม่

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม และรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม เช่นกัน

และในฝั่งสหรัฐฯ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด คือ รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดจับตาอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงนี้ส่วนใหญ่ออกมาแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ดูจะชะลอลงช้ากว่าคาด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้ อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 37 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้สำหรับสัปดาห์นี้ได้ไม่ยาก ทว่า เงินบาทอาจมีโซนแนวต้านอยู่ในช่วง 36.80-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวต้านในช่วงที่ผ่านมา (หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 37 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ หากราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความกังวลความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบได้บ้าง (คล้ายกับในช่วงแรกของการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสในปีก่อนหน้า) และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายบอนด์ไทยเพิ่มเติม ตามแนวโน้มธนาคารแห่งประเทศไทยและเฟดที่อาจยังไม่รีบลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนฟันด์โฟลว์ฝั่งหุ้นก็มีแนวโน้มผันผวนสูง และยังมีความไม่แน่นอนว่า นักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง หรือไม่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังเผชิญแรงกดดันอยู่ ส่วนเงินบาทก็เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าต่อได้ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนจากค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าเข้าใกล้ 153 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้เรามองว่า มีความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงค่าเงินได้ โดยการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนรอบก่อนหน้าของทางการญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้เงินเยนพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง จนทำให้ตลาดค่าเงินอาจผันผวนสูงในระยะสั้น

อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูงกว่าปกติ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-37.00 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 เม.ย. 2567 เวลา : 10:27:01

30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 3:48 am