
ในวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เปิดฉากการขึ้นภาษีแบบตอบโต้กับบรรดาประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ที่ติดอันดับ Top 10 เกินดุลการค้ากับสหรัฐ ก็ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มสูงถึง 37% ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยโดยตรง ทำให้ GDP ไทยมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะร่วงลงเหลือ 1.4%
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศมาตรการภาษีใหม่ โดยกำหนดให้อัตราภาษีนำเข้าพื้นฐาน (Baseline Tariff) ที่ 10% กับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสู่สหรัฐ และยังมีการเรียกเก็บภาษีอัตราภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ หรือ Reciprocal Tariffs เพื่อปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่อยู่ในสถานะเกินดุลกับสหรัฐ ซึ่งสำหรับสินค้าไทยได้ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% ก่อนที่เวลาต่อมาจะมีการประกาศปรับแก้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 37% โดยจะเริ่มมีผลวันที่ 9 เมษายน นี้
การตั้งกำแพงภาษีครั้งนี้ของสหรัฐ ส่งผลให้ตลาดทั่วโลกเกิดความปั่นป่วน เพราะสหรัฐอยู่ในสถานะของการเป็นผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อการค้าถูกจำกัดด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้แบบ Reciprocal Tariffs ก็ส่งผลกระทบลุกลามไปทุกภาคส่วน ตั้งแต่การโดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากการขึ้นภาษีที่ไม่ได้เท่าเทียมกันในแต่ละประเทศ โรงงานจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง ส่งผลต่อไปยังห่วงโซ่อุปทานในภาคส่วนอื่น ๆ ภาคการจ้างงานลดลง และปัญหาเงินเฟ้อที่จะกลับเข้ามาอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อประชากรในสหรัฐ ที่บริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน จะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ ส่งผลการบริโภคลดต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อที่ทั้งโลกจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงตัวในระดับสูงอีกครั้ง ซึ่งสุดท้ายจะวนกลับมากระทบกับเศรษฐกิจไทยเข้าเต็ม ๆ
โดยสำหรับผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะประชิดนี้ จะตกไปอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย จากที่ล่าสุด ณ ปี 2567 สหรัฐเป็นตลาดส่งออกของไทยที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่า 5.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด การใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ไทยด้วยอัตราเฉลี่ย 37% ทาง KResearch ได้มีการประเมินว่า จะส่งผลให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกในปี 2568 สูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 400,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นหลัก อย่าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า (Electronic & Appliance) ที่มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงในเดือนเมษายนนี้ -7.8% ยานยนต์และชิ้นส่วน (Auto & Parts) -6.0% สินค้าทางการเกษตร (Agriculture) -1.5% ส่วนอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) ลดลงเหลือ 0.5%
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมทางห่วงโซ่อุปทาน ที่เสียโอกาสในการส่งออกเมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นคู่แข่งขันของไทย เช่นสินค้าภาคการเกษตร อย่าง สับปะรด ซึ่งไทยมีคู่แข่งในการส่งออกโดยตรง คือ ฟิลิปปินส์ แต่ทางสหรัฐขึ้นภาษีฟิลิปปินส์แค่เพียง 17% เท่านั้น รวมถึงการลดคำสั่งซื้อของประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ เวียดนาม ที่ได้รับผลกระทบทางการค้าและหันไปหาแหล่งผลิตอื่นแทนไทย อีกทั้งในสินค้าบริโภคทั่วไปที่ไทยมักจะต้องแข่งขันกับจีนและเวียดนาม แม้จีนจะถูกรีดภาษีพอ ๆ กับไทย และเวียดนามถูกรีดภาษีสูงถึง 46% แต่ทั้ง 2 ประเทศกลับได้เปรียบไทยในด้านของต้นทุนทางการผลิตที่ถูกกว่า ฉะนั้นแล้วหากสหรัฐเก็บภาษีในอัตรา 37% กับไทยจริง ๆ จะทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐ ลดลงถึง 2.6% และการส่งออกโดยรวมหดตัว 3.8% กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.4% จะลดลงเหลือเพียง 1.4% และมีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession หากปล่อยให้ GDP หดตัวต่อเนื่องในปีนี้โดยที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย
โดยทางออกของการลดผลกระทบในครั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยอาจต้องดำเนินการหารือกับทางสหรัฐที่จะสร้างเสถียรภาพและความสมดุลทางการค้ากับสหรัฐในระยะยาว เช่น การเพิ่มพื้นที่ให้สินค้าสหรัฐเข้ามายังตลาดไทยมากขึ้นเพื่อลดการเกินดุล รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศในด้านเงินทุน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการปฏิรูปโครงสร้างต้นทุนการผลิต ซึ่งก็คงต้องจับตาดูการทำงานของภาครัฐในระยะต่อไปนี้ว่าจะหาทางเข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยได้อย่างไรบ้าง
ข่าวเด่น