Scoop : เศรษฐกิจไทย 2568 ครึ่งปีหลัง เผชิญความไม่แน่นอนสูง หวั่น GDP เหลือโตแค่ 1.7%


เรียกได้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2568 นี้ กำลังเผชิญเข้ากับความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งมาตรการทางภาษีของสหรัฐที่กระทบกับภาคการส่งออกของไทย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและตลาดลงทุนทั่วโลก หรือจะเป็นความตึงเครียดระหว่างไทย-กัมพูชา ที่กระทบกับสินค้าส่งออก ตลาดแรงงาน ไปจนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่อาจมีความติดขัดในการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ การเติบโตของ GDP อาจโตได้ต่ำลงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
 
ทางด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังคงต้องแบกรับกับความไม่แน่นอนสูงในช่วงครึ่งปีหลัง จึงได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีดังกล่าว จากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน พ.ย. 2567 ที่ระดับการเติบโต 3% ลดลงเหลือ 1.7%
 
โดยเศรษฐกิจไทยนั้น ต้องรับแรงกดดันรอบด้านจากหลายปัจจัยเสี่ยง ไล่มาตั้งแต่มาตรการทางภาษีของสหรัฐ ที่แม้ตอนนี้สหรัฐกับจีนบรรลุข้อตกลงทางการค้าเป็นที่เรียบร้อย แต่กับประเทศที่เหลือยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าที่แน่ชัด และยังไม่มีการการันตีใด ๆ ว่า ไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่สหรัฐเตรียมจะเจรจาข้อตกลงในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้านี้ แต่เส้นตายของการชะลอการเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 90 วัน กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ก.ค. 2568 นี้แล้ว ทำให้การส่งออกไทย ยังคงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหนัก ซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกไทยลดลง 1.26%-1.93%
 
ส่วนความตึงเครียดบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ก็ยังไม่สู้ดีนัก เพราะยังมีการปรับเวลาเปิดปิดของด่าน กำหนดช่วงเวลาการเข้าซื้อสินค้าของชาวกัมพูชาในฝั่งไทย จำกัดจำนวนคนเข้ามา ส่วนฝั่งกัมพูชายังคงมีการห้ามนำเข้าสินค้าบางรายการ อีกทั้งด้วยปัญหาความขัดแย้งที่ยังมีการณรงค์ไม่บริโภคสินค้าไทย ก็ยิ่งส่งผลกระทบกับสินค้าส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มเคมีภัณฑ์และปุ๋ย โดยหากสถานการณ์ยืดเยื้อในระดับปานกลางจะส่งผลกระทบต่อ GDP 0.19% แต่หากเกิดการปิดด่าน 100% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะส่งผลต่อ GDP  0.38% (ทั้งนี้หากสถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว จะกระทบต่อ GDP 0.06%)
 
ขณะเดียวกันสิ่งที่ลากยาวมาจากความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ก็คือประเด็นคลิปเสียงสนทนาของผู้นำทั้งสองประเทศ ที่นำมาสู่วิกฤตทางการเมืองไทยที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชน จนเกิดการชุมนุมขับไล่ให้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งเพื่อล้มรัฐบาลเพื่อไทย โดยหากการยุบสภาเกิดขึ้นจริง จะทำให้มีการเลื่อนเบิกใช้งบประมาณแผ่นดิน จะกระทบกับแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ (จากงบกลางของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท)
 
ทางด้านความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน มองว่าจะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก และนโยบายทางการเงิน อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายได้โดยเร็ว จึงอาจเกิดผล กระทบในวงจำกัด แต่อีกปัญหาสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทย คือ การบริโภคที่อ่อนแรงลง ทั้งจากการที่ภาคท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังสูงถึง 87.4% ต่อ GDP ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตเพียง 2.4% (เทียบกับ 7.1% ในปี 2566) และการบริโภคก็จะกดดันต่อไปยังภาคการลงทุน โดยในส่วนการลงทุนเอกชนตอนนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 และคาดว่าหดตัว -1.2% ตลอดปี 2568
 
ความท้าทายดังกล่าวนี้กำลังสะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างที่ลึกซึ้งของเศรษฐกิจไทย ว่ามีความเปราะบางแค่ไหนกับทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก และเมื่อผนวกเข้ากับสภาวะที่การเมืองของประเทศมีความสั่นคลอนด้วยแล้ว ศึกหนักในตอนนี้ก็คงจะตกอยู่กับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าจะแก้เกมเพื่อลดแรงกดดันจากสังคมและสภาผู้แทนราษฎรอย่างไรให้ทำงานต่อไปได้

LastUpdate 29/06/2568 21:54:43 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
01-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 1, 2025, 1:51 pm