
ภาพตัวเลขการส่งออกไทยที่เติบโตสวนทางกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศที่หดตัวอย่างต่อเนื่องนั้น กำลังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย ที่กำลังเผชิญเข้ากับทุนต่างชาติผิดกฎหมาย หรือทุนสีเทา ที่เข้ามาสวมถิ่นกำเนิดสินค้า ทำทีว่าเป็นสินค้าผลิตจากไทย ก่อนสวมรอยส่งออกในนามประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศเพิ่มมากขึ้น เรื่อย ๆ
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงสร้างที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก เมื่อการส่งออกเติบโตดี ก็จะส่งผลให้ GDP ไทยเติบโตตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมูลค่าการส่งออกของไทย แต่ในปัจจุบันนี้การส่งออกสินค้าไทย ที่เห็นว่ามีการเติบโตที่ดีนั้นกลับไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยการผลิตภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม โดยไม่ว่าการส่งออกไทยเดือน พ.ค. 2568 จะขยายตัวถึง 18.4% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 แต่ขณะเดียวกันภาคการผลิตกลับติดลบเป็นปีที่ 2 ซึ่งทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกมาเปิดเผยว่า การใช้กำลังการผลิตของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงเหมือนแต่ก่อน โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 อยู่ที่ระดับ 60.93% ลดลงมาจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ระดับ 61.05% และในไตรมาสแรกของปีนี้หากเทียบกันแล้ว มูลค่าการส่งออกเติบโต 15% ขณะที่ภาคการผลิตเติบโต 0.6% สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ไม่สมดุลกันระหว่างภาคการส่งออกและภาคการผลิต
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเกี่ยวกับโรงงานในประเทศไทยที่ปิดตัวลงจำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการรายงานว่า สถานการณ์การปิดโรงงานในปี 2567 ยังคงมากกว่า 100 แห่งต่อเดือน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าโรงงานที่ปิดตัวลง เป็นโรงงานขนาดเล็ก (SMEs) มากขึ้น สะท้อนจากทุนจดทะเบียนรวมของโรงงานที่ปิดตัวน้อยกว่าปี 2566 ราว 3.8 เท่า และยังมองต่อว่า โรงงาน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จะยังเสี่ยงจะปิดตัวต่อเนื่องในปี 2568 เนื่องมาจากปัญหาโครงสร้างการผลิต การเผชิญความต้องการที่ลดลง รวมถึงการแข่งขันรุนแรงทั้งจากคู่แข่งและสินค้านำเข้า
คำถามก็คือ แล้วทำไมการส่งออกไทยถึงยังมีการเติบโตต่อเนื่องอยู่? คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ “การโดนสวมสิทธิสินค้า” เป็นรูปแบบธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยหลัก ๆ จะเป็นการเข้ามาของทุนต่างชาติที่แอบอ้างใช้ชื่อไทย แล้วทำทีว่าสินค้าที่ผลิตออกมา Made in Thailand ก่อนทำการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าของไทยที่มีการทำความตกลงทางการค้า และมีประโยชน์ทางด้านภาษีอยู่แล้ว ซึ่งจะมีวิธีการอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ
1.สร้างโรงงานศูนย์เหรียญ คือการที่ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งโรงงาน บริษัท หรือถือหุ้นแทนคนไทย โดยใช้นอมินี ที่เป็นชื่อคนไทยในการจดทะเบียนด้วยสัดส่วน 51% กับ 49% (เพื่อเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542) จากนั้นจะใช้ชื่อในนามนอมินี ขนส่งวัตถุดิบจากประเทศตัวเองเข้ามาประกอบในไทย แล้วส่งออกโดยแปะป้ายว่าผลิตจากไทย
2.การเอาสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมาพำนักที่ไทย ก่อนขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Certificate of Origin รับรองว่ามาจากไทย ก่อนแปะป้าย Made in Thailand แล้วส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีวิธีพลิกแพลงอีกหลายรูปแบบมากในการสวมสิทธิว่าเป็นของไทยในการส่งออกสินค้า โดยปัจจุบันเราจะเห็นทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งเป็นหมวดที่ไทยผลิตได้ต่ำลง สวมสิทธิในการส่งออก หรือจะเป็นทุเรียนที่ไทยมี Market Share ที่ลดลงในตลาดนำเข้าจีน จากที่ครองตลาดในสัดส่วน 95% ลดลงมาอยู่ที่ 57% โดยนอกจากจีนจะยกระดับมาตรฐานสินค้าแล้ว ไทยยังโดนทุเรียนจากเวียดนามสวมสิทธิส่งออกอีกด้วย หรือแม้แต่ข้าวหอมมะลิที่ผลิตในกัมพูชา แปะป้ายว่าเป็น Cambodia Product แต่กลับใช้ภาษาไทย และแปะธงชาติไทยวางขายในซุปเปอร์มาเก็ตจีน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการสวมสิทธิเช่นกัน
ซึ่งปัญหาก็คือ ฝ่ายของไทยจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นการกระทำจากต่างชาติก็ตาม เพราะอย่างใบ Certificate of Origin ได้รับความเชื่อถือจากศุลกากรและผู้นำเข้า หากประเทศผู้นำเข้าพบว่ามีการสวมสิทธิสอดไส้สินค้าในนามประเทศไทยเกิดขึ้น ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของไทยลดลง จนอาจระงับสิทธิพิเศษกับการค้าไทยไปเลย และมีโอกาสที่เขาจะไม่ตอบรับนำเข้าสินค้าจากไทยไปอีก เนื่องจากมีความสับสนถึงมาตรฐานของสินค้าไทย และหากจับไม่ได้แต่พบว่าสินค้านั้นคุณภาพด้อย หรือเป็นอันตราย ฉลากที่แปะว่า Made in Thailand ก็จะย้อนกลับมาทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยไม่ดีต่อสายตาชาวโลก ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้ศักยภาพในภาคการผลิตและการส่งออกลดต่ำลงจนกระทบกับผู้ประกอบการชาวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข่าวเด่น