
ประเทศไทย โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พร้อมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตรที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย อาทิ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทีโอที ทีเฮชนิค และกลุ่มผู้ร่วมงานรายอื่นๆ ร่วมกับมูลนิธิ Internet Society(ISOC) จัดงาน “INET Bangkok 2013” ภายใต้หัวข้อ “The Internet: The Power to Create” หรือ “อินเทอร์เน็ต : พลังแห่งการสร้างสรรค์” ในวันที่ 7-8 มิถุนายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรก ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่อีกงานของเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการฉลองครบรอบ 25 ปี โดเมนเนม .TH ที่เจริญเติบโตคู่กับอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม ภายใต้ชื่องาน ".TH 25 ปี ทบทวนอดีต พิจารณาปัจจุบัน ผลักดันอนาคต"

การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีเสวนาวิชาการเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศและผลักดันให้เกิดการรวมตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน โดยมุ่งหวังว่าผลจากการจัดงานจะเกิดกลุ่มเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ที่เข้มแข็ง และสามารถผลักดันให้เกิดการทำงานที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป
นายจำนง แก้วชะฎา รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เปิดเผยว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ร่วมกับอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย(ISOC) ในการแสดงเจตนารมย์ไม่บรรจุคำนิยามเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ในวาระการ ประชุมของ ITU เพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทางธุรกิจมาเป็นตัวขัดขวาง ทำให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและตัวแทนภาคเอกชนของไทยได้ ใกล้ชิดและมองเห็นแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตของไทยให้เติบโต ขึ้นอย่างมีแบบแผนโดยมีองค์กรใน
ระดับโลกเข้ามาช่วยเหลือ งาน INET Bangkok ซึ่งเป็นงานด้านอินเทอร์เน็ตระดับภูมิภาค ที่ถือเป็นรูปธรรมของการจะพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้

ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดเผยว่า 25 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงระบบสื่อสารของคนทั่วโลกจากโทรศัพท์ราคาแพง กลายเป็นการหลอมรวมของสื่อจดหมาย ข้อความสั้น ประชุมทางไกลด้วยภาพ การกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ กลายเป็นสื่อสังคมทั้งในสภาพข้อความเสียง ภาพเคลื่อนไหว ควบคู่ไปกับอุปกรณ์ (devices) ราคาถูก อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเครื่องมือค้นหาข้อมูล (search engines) ที่ทรงพลังน่าจะกล่าวได้ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นของทุกคนและอีก 25 ปี ข้างหน้าเราจะเห็นภาพอนาคตอย่างไร อำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับโลกจะอยู่กับชาติใด ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนในชาตินั้นๆ ประเทศไทยพร้อมที่จะยืนอยู่ในสังคมไซเบอร์จริงหรือไม่
อนาคตอินเทอร์เน็ตภูมิภาคเปลี่ยน
นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย (ISOC) เปิดเผยว่า งาน INET Bangkok ปีนี้จะแตกต่างจากการจัดงาน INET Global ซึ่งเน้นทิศทางในระดับโลก แต่งานนี้ ISOC มุ่งเน้นแค่การเกิดยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องอินเทอร์เน็ตและทิศทางโดยรวมของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งงาน INET จะไม่ใช่เป็นเพียงงานเวทีเสวนาวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของ อินเทอร์เน็ตที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศเท่านั้นแต่จะเป็นเวทีที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา และการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งจาก ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน โดยมุ่งหวังว่า ผลจากการจัดงานจะเกิดกลุ่มเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยที่เข้มแข็งและสามารถผลักดันให้เกิดการทำงานที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ขึ้นต่อไป
ทั้งนี้การจัดงานจะมีส่วนที่เป็นการสัมมนาและนิทรรศการ ซึ่งในส่วนการสัมมนามีวิทยากรทั้งจากต่างประเทศและของไทย โดยการบรรยายครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่ Technology Track, Innovation Track, iSociety Track, และ Future Track
โดยมี Highlights ดังนี้คือ
1. Web RTC Workshop and Internet of Things แนะนำเทคโนโลยีล่าสุดจากนวัตกรรมบน Internet ฉบับประชาชนที่หลายคนในวงการที่คาดว่าจะเปลี่ยนโฉมการใช้งานของ Internet โดยสิ้นเชิง
2. Digital Footprint Workshop ผู้ใช้ Internet มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างและแตกต่างจากผู้บริโภคทั่วๆ ไปหรือไม่ ภัยในการใช้ Internet มีอะไรบ้าง?
3. Governance in the age of the Internet and Free Trade Agreements(FTAs) ประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมมากน้อยแค่ไหนในเวทีการต่อรองสนธิสัญญาการค้าของโลกในเรื่องเกี่ยวโยงกับ Internet อะไรคือกติกาใหม่ๆ ที่ควรมีผลกระทบและบทบาทต่อประเทศไทย ทั้งในด้านบวกและลบ
4. Smart Service/ System ได้เรียนรู้เรื่องนวัตกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้นำมาใช้บน Internet เช่น เกษตรกรรมและชาวนาไฮเทค, คุณหมอไร้สาย เป็นต้น (
5. Enabling Smart & Open government- Cloud computing ความท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยในการนำเทคโนโลยี Cloud Computing มายกระดับในการบริการประชาชนที่เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
6. IPV6 ทำไมประเทศไทยต้องนำ IPv6 มาใช้? ที่นี่มีคำตอบ
7. Building a Sustainable Internet Ecosystem-An Integrated Approach ทำไมประเทศไทยยังมีไม่มีอุตสาหกรรม Internet เหมือนต่างประเทศ? การเกิดเศรษฐกิจ Internet (หรือ Digital Economy) ต้องอาศัยอะไรบ้าง?
ข่าวเด่น