แบงก์-นอนแบงก์
KTB เปิดแผนยุทธศาสตร์ 7 ปี ดันกำไรโต 3 เท่า แตะแสนล้านบาท


ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ได้เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดย นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ระบุถึงแผนการดำเนินงาน ธุรกิจของธนาคารในช่วง 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2562 ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายกำไรเติบโต 3 เท่าจากปี 2556 ที่มีกำไร 33,900 ล้านบาท หรือกำไรจะแตะที่ประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท


 
 
โดยมาจากแผนการทำงานที่เน้นการพิชิตยอดเขา 3 ลูก โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก ตั้งแต่ ปี 2557-2558 เป็นช่วงวางรากฐานของธนาคารให้แข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 โดยธนาคารได้ปฏิรูประบบการทำงาน (KTB Transformation) ปรับกระบวนการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ โดยการตั้ง Loan Factory สำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail) และลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และลดเวลาในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงการปรับกระบวนการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ช่วงที่สอง ตั้งแต่ปี 2559-2561 เป็นช่วงที่ ธนาคารมีเป้าหมายเพื่อขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศในด้านส่วนแบ่งการตลาดและผลกำไร ด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยธนาคารจะปรับพอร์ตลูกค้า โดยเน้นขยายฐานลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้าของธนาคาร ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้ารายย่อย 35% กลุ่มลูกค้าองค์กร 35% กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี 20% และกลุ่มลูกค้าจากภาครัฐอีก 10% ซึ่งกลุ่มลูกค้ารายย่อย ยังถือว่ามีสัดส่วนที่ต่ำมาก 
จึงเป็นช่องว่างที่ธนาคารจะต้องเข้าไปขยายฐานเข้าไปสู่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่อยู่ในภาคเอกชนให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิมที่เป็นกลุ่มลูกค้าภาครัฐให้เหนียวแน่น 

 
 
 
และช่วงที่สาม ตั้งแต่ปี 2562-2564 จะพัฒนาให้ธนาคารเป็นองค์กรที่ดีที่สุดในการทำงาน (Best Place to Work) โดยต้องการให้ธนาคารเป็นเสาหลักของประเทศ เป็นสถาบันที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นบ้านหลังที่ 2 ของพนักงาน ทำให้ทุกคนต้องการเข้ามาทำงาน ด้วยการสร้างแบรนด์กรุงไทยให้สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถมีความต้องการที่จะเข้ามาทำงาน และเป็นองค์กรที่สามารถพัฒนาศักยภาพพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนการขยายธุรกิจในปี 2558 นายวรภัค เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ 6% หรือคิดเป็นการเติบโตในระดับ 1.5 เท่าของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ (GDP) ที่ 3.5-4.5% โดยจะเน้นการปล่อยสินเชื่อกลุ่มรายย่อย ซึ่งคาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 10% ส่วนสินเชื่อรายใหญ่จะเติบโตไม่สูงนัก เพราะธนาคารมุ่งเน้นรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ทำให้ไม่จำเป็นต้องปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่มากนัก

ขณะเดียวกันธนาคารยังตั้งเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มเติมในปีนี้อีก 15 สาขา ซึ่งจะทำให้สิ้นปี 2558 ธนาคารมีสาขาทั้งหมด 1,213 สาขา จากปัจจุบัน 1,198 สาขา 

 
 
 
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในปีนี้คาดว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะต่ำกว่า 1.5% ลดลงจากปี 2556 ที่ระดับ 1.7% โดย NPL ที่ปรับลดลงมาจากการบริหารงานของธนาคาร รวมไปถึงการติดตามดูแลลูกค้าในกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

สำหรับการตั้งสำรองพิเศษ ปี 2558 นี้ มีแนวโน้มที่ธนาคารจะตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองปกติที่ 700 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่ใช่เป็นกลุ่มข้าราชการ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี 
 
 

LastUpdate 21/01/2558 07:32:10 โดย : Admin
17-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 17, 2025, 7:12 pm