แอปพลิเคชั่นแสดงผลค่าน้ำตาล เทรนด์ใหม่ของการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ปฏิวัติความยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย
เบาหวาน โรคระบาดที่ไม่ติดต่อและกำลังเป็นภัยคุกคามคนทั่วโลกรวมถึงชาวไทย จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation – IDF) ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีผู้เป็นโรคเบาหวาน 4,025,100 ราย และยังคงทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากปัจจัยกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตที่ขาดความสมดุล ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารตามความพอใจ เมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว บางคนยังขาดวินัยในการติดตามโรค ไม่ได้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน เพราะคิดว่ายุ่งยากหรือการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ทำให้ขาดข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและประเมินแนวทางการรักษา
นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ จากศูนย์โรคเบาหวานและไทรอยด์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวานว่า “การดูแลตนเองรวมถึงการบันทึกข้อมูลระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นหัวใจของการรักษาเบาหวานที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยปกติผู้เป็นเบาหวานควรจะทำการตรวจค่าน้ำตาลด้วยตัวเองทุกวัน (Self – Monitoring of Blood Glucose) ทั้งก่อนและหลังอาหาร เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาของค่าน้ำตาลจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถกำหนดอาหารที่ควรจะรับประทานในครั้งต่อไป ทำให้คุมเบาหวานได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลาตรวจตามนัด แพทย์จะทำการตรวจน้ำตาลแบบ A1C เพื่อนำมาประเมินควบคู่กับผลตรวจรายวันของผู้เป็นเบาหวาน ก็จะได้ค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลที่แม่นยำยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ทำให้ขาดวินัยในการติดตามโรค บางคนแค่เจาะเลือดตอนเช้าแล้วพอเห็นผลออกมาปกติ ก็ไม่ได้ใส่ใจอาหารการกินในระหว่างวันนั้น และไม่ได้เจาะเลือดหลังรับประทานอาหารอีก แต่พอวันรุ่งขึ้นพบว่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ก็ค่อยมาคุมอาหาร อีกหนึ่งปัจจัย คือ ความยุ่งยากในการจัดเก็บข้อมูล บางวันอาจจะลืมจดหรือจดแล้วจำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน ทั้งๆ ที่ข้อมูลเหล่านี้ มีความสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับผู้เป็นโรคเบาหวานท่านนั้นๆ”
.jpg)
ปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยในการติดตามโรคเบาหวานหลายชนิด เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดแบบพกพา ซีจีเอ็ม คอนแทคเลนส์อัจฉริยะ แต่เทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศอย่างอเมริกาและยุโรป คือ “แอปพลิเคชันแสดงผลค่าน้ำตาล” ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของข้อมูลระดับน้ำตาลของผู้เป็นเบาหวาน ที่จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยแนวทางการรักษาได้ดีขึ้น และยังมอบความสะดวกสบาย โดยลดปัญหาความยุ่งยากในการจดบันทึกข้อมูล ทั้งยังสามารถเรียกดูข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา
แอปพลิเคชันแสดงผลค่าน้ำตาล ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยคนสำคัญที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ผู้เป็นเบาหวาน เพราะแอปพลิเคชันจะประมวลผลค่าน้ำตาลที่ตรวจวัดไว้ทั้งหมด โดยจะแสดงผลหลายรูปแบบ เช่น ตาราง กราฟ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกดูและวิเคราะห์ผลตรวจ ทำให้เห็นภาพรวมว่า มีระดับน้ำตาลที่สูงหรือต่ำกว่าค่าเป้าหมาย และผู้เป็นเบาหวานยังสามารถถ่ายภาพอาหาร พร้อมอัพโหลดภาพและบันทึกปริมาณคาร์โบไฮเดรตในอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ผู้เป็นเบาหวานสามารถนำมาวิเคราะห์ และประเมินผลการดูแลระดับน้ำตาลก่อนและหลังอาหารร่วมกับแพทย์และนักโภชนาการได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้เป็นเบาหวานยังสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชั่นในด้านอื่นๆ เช่น แชร์ผลลัพธ์ระดับน้ำตาลในเลือดของตนเองกับผู้ดูแลและแพทย์ประจำตัวได้ โดยสามารถเรียกดูข้อมูลออนไลน์พร้อมกันได้ทุกเมื่อ นับเป็นการทำงานเป็นทีมที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษาได้เป็นอย่างดี
.jpg)
“เบาหวานเป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลตัวเองและใส่ใจตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการใช้ยาหรืออินซูลินตามแผนการรักษา ขณะที่ความถูกต้องและแม่นยำของเครื่องตรวจน้ำตาล รวมทั้งการจัดการค่าน้ำตาลที่สะดวกในการวิเคราะห์ผล จะช่วยให้แพทย์จ่ายยาและรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตอยู่กับโรคเบาหวานอย่างมีความสุข” นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย
บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านเวชภัณฑ์ของโลก มีความมุ่งมั่นในการค้นคว้าและวิจัย เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องแม่นยำ บริษัทโรชฯ แผนกเบาหวาน จึงได้พัฒนา “แอปพลิเคชันแสดงผลค่าน้ำตาล” นวัตกรรมใหม่ที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลควบคู่ไปกับเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาล พร้อมการถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องตรวจน้ำตาลผ่านบลูทูธไปยังสมาร์ทโฟน ช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานสามารถดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้น ลดความกังวลเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคเบาหวาน เพราะแพทย์และผู้ดูแลสามารถเห็นผลน้ำตาลได้ตลอดผ่านทางแอปพลิเคชัน
ข่าวเด่น