การค้า-อุตสาหกรรม
ก.อุตฯ ชู Industry Transformation Center แปลงร่างอุตฯเครื่องมือแพทย์ ปั้นผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด


 


กระทรวงอุตสาหกรรม ใช้ไอเดีย Industry Transformation Center นำร่องในอุตสาหกรรมการแพทย์ ก่อนขยายสู่ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เตรียมปั้นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาสาเป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงผู้ประกอบการ นำงานวิจัยไปสร้างชิ้นงานต้นแบบ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการตั้งทีมงานที่มีการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ หน่วยงานวิจัยและภาคเอกชน เพื่อวิเคราะห์และหาทางตอบโจทย์ดังกล่าว พบว่าประเด็นใหญ่ที่หายไปในระบบของไทย หรือ Missing Link มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) โจทย์งานวิจัยและพัฒนาของนักวิจัยไม่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประเด็นนี้ไม่เพียงแต่ภาควิจัยไม่เข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมเอง การสร้างโจทย์งานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภาคอุตสาหกรรมไทยเกือบทั้งหมดเราพัฒนามาแบบรับจ้างผลิต (OEM) ไม่ได้พัฒนาหรือออกแบบผลิตภัณฑ์เอง ดังนั้น งานพัฒนานวัตกรรม การสร้างโจทย์วิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงถือเป็นเรื่องใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน และ 2) ประเทศไทยขาดการบริหารการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม หรือ System Integration (SI) โครงสร้างพื้นฐานที่เราอาจเรียกว่า ส่วนที่เป็นการนำผลการศึกษาไปผลิตเป็นชิ้นงานต้นแบบ (Scale Up งานวิจัย) และด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นงานต้นแบบหรือ Prototype นวัตกรรมของไทยมีจำนวนมาก แต่หางานที่ออกมาสู่เชิงพาณิชย์ได้ยาก

เพื่อตอบโจทย์ Missing Link ทั้งสองข้อ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเตรียมการเปิดศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต หรือ Industry Transformation Center (ITC) โดย ITC จะเป็นการทำหน้าที่เป็น System Integration เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัย หน่วยงานการศึกษา ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และนักนวัตกรรมหรือผู้ประกอบการที่เป็น Start Up ต่างๆ โดยการทำงานของ ITC เป็นจะเป็นการทำงานในลักษณะประชารัฐ คือ นำผู้ประกอบการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัย เพื่อสนับสนุนตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักนวัตกรรมหรือ Start Up โดยเน้นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายรัฐบาล

 
การออกแบบกระบวนการทำงานของ ITC นั้น เป็นการขยายผลงานของสถาบันพลาสติก สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้นำร่องดำเนินการก่อน ผ่านศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพลาสติก เข้ามาสู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น และพบว่า มีโจทย์นวัตกรรมหลากหลายจากผู้ประกอบการ มาให้ช่วยพัฒนา แต่ไม่รู้จะเป็นไปได้แค่ไหน ซึ่งสถาบันฯ ให้บริการทั้งด้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์ การประเมินความเป็นไปได้ทั้งการตลาดและเชิงเศรษฐศาสตร์ การออกแบบวิศวกรรม การออกแบบกระบวนการผลิต การคัดเลือกวัสดุ การพัฒนาต้นแบบ การทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Scale Up การผลิต) การเชื่อมโยงผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิต และการวางโมเดลในการดำเนินธุรกิจ (Business Model) โดยการดำเนินงานที่ผ่านมานวัตกรรมทางการแพทย์ เป็นโจทย์แรกที่พัฒนาจนประสบผลสำเร็จ

“Industry Transformation Center (ITC) จะเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ในทุกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่อาหารเกษตรแปรรูป/ชีวภาพ เครื่องมือแพทย์-สุขภาพ ไฮเทค อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ และดิจิทัล ในเบื้องต้นระหว่างรอการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม การจัดตั้ง Industry Transformation Center จะเป็นการทำงานร่วมกันของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสถาบันเครือข่าย โดยมอบหมายให้สถาบันพลาสติกดูแลไปก่อนร่วมกับ กสอ. และเป็นตัวกลางประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นต่อไป และการนำร่องในอุตสาหกรรมนี้จะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมในเกือบทุก S Curve อยู่แล้ว และที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานก็มีการบูรณาการทำงานสอดรับกันเป็นอย่างดี” นายสมชาย กล่าว

โดยถุงทวารเทียม (Colostomy Bag) ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ผ่าตัดไปแล้วและต้องขับถ่ายทางหน้าท้อง เป็นตัวอย่างงานที่สถาบันพลาสติก ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาโดยหลังจากการร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักการแพทย์แล้ว ได้มีการเชื่อมทำงานร่วมกับผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิตวัสดุต้นน้ำ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ตลอดจนผู้ประกอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ไปจนถึงผู้แทนจำหน่ายในธุรกิจเครื่องมือแพทย์ การเชื่อมโยงทำงานดังกล่าวไม่เพียงการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมโยงผู้ประกอบการหลายรายให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างอุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเครื่องมือแพทย์ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบแต่ละฝ่ายมีการเตรียมโรงงาน ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร รวมถึงการเตรียมงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์แล้ว

นายอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโนวาเมดิค จำกัด ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ผู้ผลิตไหมเย็บแผล วัสดุปิดแผล ตัวอย่างของ SME สายพันธ์ไทยแท้ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมกันในโครงการถุงทวารเทียม กล่าวว่า การเริ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของตนไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ส่วนตัวจะเป็นเภสัชกรที่อยู่ในแวดวงการแพทย์ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ต้องใช้ศาสตร์ในเชิงอุตสาหกรรม วิศวกรรม และความรู้ด้านการจัดการธุรกิจมาประกอบด้วย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาต้องดำเนินการเองเกือบทั้งหมด ทำให้การทำงานยากและใช้เวลานานมากกว่าจะได้แต่ละผลิตภัณฑ์ และบางผลิตภัณฑ์ถึงกับเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะกับ SME ที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรในหลายด้าน แม้จะมีต้นแบบมีการออกแบบผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว แต่การขยายการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นด่านใหญ่มาก การจะหาใครมาช่วยพัฒนาและเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนเราในการผลิตเชิงพาณิชย์ด้วย แต่ตัวอย่างการพัฒนาถุงทวารเทียมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากมีหน่วยงานอย่างสถาบันพลาสติก ที่มาช่วยดำเนินการออกแบบเชื่อมโยงการพัฒนาทั้งระบบของการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งตนเชื่อว่าต่อไปการพัฒนานวัตกรรมตัวต่อไปก็จะง่ายขึ้น ไม่ใช้ต้องทำเองทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากการผลิตเชิงอุตสาหกรรม อีกด่านใหญ่ที่สำคัญมากที่สุดคือการตลาด หากผลิตได้หาคนซื้อไม่ได้ นวัตกรรมก็เกิดเป็นธุรกิจไม่ได้ ซึ่งอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยประสบปัญหานี้มาก โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการยอมรับโดยการใช้งานของผู้ใช้ จึงต้องการความร่วมมือหลายฝ่าย และการช่วยกันพัฒนามาตรฐานอุปกรณ์การแพทย์ไทย ให้ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ต.ค. 2559 เวลา : 11:23:19
11-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 11, 2025, 5:11 pm