เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา นาย Jacky Ong ประธานกรรมการบริหาร (CEO) บริษัท JBN Global Co., Ltd. ที่ปรึกษาด้านการค้าการลงทุนของกัมพูชาในประเทศไทยได้นำหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย (๑) บริษัท Mushroom TV (๒) บริษัท Han Viet JSC (3) บริษัท Tam Thai Activity & Marketing และ (4) บริษัท Cinnamon Bridge และผู้แทนจากศูนย์สานสัมพันธ์จับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพบ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เพื่อหารือประเด็น SMEs Start-up การจับคู่ธุรกิจ การเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจ การค้าการลงทุนในไทย การแสวงหาโอกาสที่จะเชื่อมโยงการค้าใน CLMVT รวมถึงติดตามการสนับสนุนการจัดงาน CLMVT Forum 2017 ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชาในปี 2560
.jpg)
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การจะก้าวพ้นปัญหากับดักรายได้ปานกลาง จะต้องเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า มุ่งพัฒนาและส่งเสริมภาคบริการให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคอาเซียนและต่อยอดไปสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก ในส่วนของการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กับกลุ่มประเทศ CLMV ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นนั้น กระทรวงพาณิชย์กำหนดยุทธศาสตร์ CLMV เป็นตลาดเดียวกันกับประเทศไทย (CLMVT as OUR Home Market) เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ในการก้าวสู่ตลาดโลกและการเจริญเติบโตไปด้วยกัน ตลอดจนเสริมสร้างบทบาทของไทยและ CLMV ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน
ด้านประธานกรรมการบริหารบริษัท JBN Global และหุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัท ได้หารือเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ ด้านการส่งเสริมการสร้างเครือข่าย (อาทิ งานแสดงสินค้า งานจับคู่ธุรกิจ) และความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจการค้า เพื่อร่วมหารือและพัฒนา ยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ SMEs และ Start up ของประเทศในกลุ่ม CLMVT ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกต่อไป
ผลการหารือร่วมกัน ผู้แทนจากศูนย์สานสัมพันธ์จับคู่ธุรกิจระหว่างประเทศฯ ได้เสนอแนวทางการจัดทำความร่วมมือระหว่างไทยกับ CLMV 3 ข้อ ได้แก่ (1) กำหนดยุทธศาสตร์หรือนโยบายให้ตรงกันภายในกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Synergy) (2) ปรับเปลี่ยน Mind Set ผู้ประกอบการให้เป็น International Trader และรู้จักนำความรู้/ความช่วยเหลือจากภาครัฐไปต่อยอด และ (3) การพัฒนาบุคลากร ควรส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศใน CLMV ควบคู่ไปด้วย ตลอดจนการนำผู้ประกอบการไปบ่มเพาะยังต่างประเทศ เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริงของตลาดเป้าหมาย
ในการหารือในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับภาคเอกชน CLMV ในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐไทยที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนร่วมกัน และทำให้ภาครัฐไทยมีความมั่นใจมากขึ้นในการผลักดันความร่วมมือ รวมถึงมีแนวทางพัฒนาร่วมกับประเทศ CLMV ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างกลุ่มประเทศ CLMVT ต่อไปในอนาคต
ข่าวเด่น