กรมสุขภาพจิตเผยความคืบหน้าการดูแลสภาพจิตใจครอบครัวของ4 พี่น้องตกระเบียงคอนโด พบว่ามารดายังอยู่ภาวะโศกเศร้า เป็นทุกข์ใจ นอนไม่หลับ วางแผนส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทชุดใหญ่จากสถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จพระยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 35 กทม. เข้าเยี่ยมประเมินสภาวะจิตใจโดยเฉพาะความเครียด ซึมเศร้า วันจันทร์นี้ที่รพ.รามคำแหง เพื่อวางแผนดูแลอย่างเต็มที่และต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานอื่น
.jpg)
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ครอบครัวของเด็ก 4 พี่น้องที่ตกระเบียงคอนโดเมื่อคืนวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาว่า กรมสุขภาพจิตได้เร่งให้การดูแลด้านจิตใจครอบครัวของเด็กอย่างเต็มที่ โดยได้ส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทจากสถาบันราชานุกูล เข้าเยี่ยมให้กำลังใจมารดาของเด็ก พบว่าขณะนี้มารดายังอยู่ในภาวะเศร้าโศก เป็นทุกข์ใจ นอนไม่หลับ โดยขณะนี้เด็กที่บาดเจ็บ 3 คน ซึ่งเป็นพี่ของเด็กที่เสียชีวิต ยังพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2 แห่ง คือเด็กชายลูก้าอายุ 11 ขวบ และเด็กหญิงชนิดา อายุ 7 ขวบ อยู่ที่รพ.รามคำแหงในห้องไอซียู คุณตาให้ข้อมูลว่าเด็กชายลูก้ารู้สึกตัวแล้ว จำตาได้ ส่วนเด็กหญิงชนิกา ยังไม่รู้สึกตัว และเด็กหญิงพาเมลาอายุ 10 ขวบ ซึ่งบาดเจ็บขาหัก พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ. แพทย์ปัญญามียายเฝ้าดูแลอยู่
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้วางแผนส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแค็ท จากสถาบันราชานุกูล สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข35 ของกทม. ลงเยี่ยมดูแลด้านจิตใจ ครอบครัวทั้งแม่ คุณตา คุณยายของเด็ก โดยจะประเมินสภาพจิตใจ โดยเฉพาะความเครียด อาการซึมเศร้า ในวันจันทร์ที่ 7พฤษภาคม 2561นี้ที่รพ.รามคำแหง เพื่อวางแผนดูแลอย่างต่อเนื่องจนกว่าสภาพจิตใจจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ รวมทั้งจะเข้าเยี่ยมอาการของเด็ก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯสำนักงานเขตกทม. เข้าเยี่ยมด้วย เพื่อดูแลด้านสวัสดิการต่างๆแก่ครอบครัวด้วย
ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถาบันราชานุกูล ได้นำหรีด กระเช้ารังนก และเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้มารดาที่วัดจันทวงศาราม (วัดกลาง) ซอยลาดพร้าว 132 เขตบางกะปิ ร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศลศพของด.ช.คนัธชา อายุ 5 ขวบ แรกพบมารดามีสีหน้าหมองเศร้า ทีมงานได้เข้าไปให้กำลังใจ มารดาสนทนาพร้อมกับร้องไห้ว่า “เวลานี้ทุกคนในบ้านรู้สึกทุกข์ใจมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ” ทีมงานได้ปลอบใจ โดยได้เน้นย้ำพร้อมให้การดูแลช่วยเหลือให้กลับมาเข้มแข็ง และให้คำแนะนำหากนอนไม่หลับหรือเครียดวิตกกังวล ให้ไปพบแพทย์หรือรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 35 หรือขอรับคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง
สำหรับแผนดูแลจิตใจของเด็กทั้ง 3 คน ซึ่งอายุต่ำกว่า 11 ปี และได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกกลัว และกังวลกลัวเหตุการณ์จะเกิดซ้ำอีก เด็กที่ได้รับผลกระทบรุนแรงทางจิตใจ อาจทำให้มีปัญหาการนอน ฝันร้าย อารมณ์หงุดหงิด มีความรู้สึกซึมเศร้า หรือมีอารมณ์เฉยชา บางคนอาจมีความรู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองเป็นต้นเหตุไม่สามารถช่วยน้องได้ จะต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือช่วงหลังเกิดเหตุ 2 สัปดาห์แรก จะประเมินสภาวะความเครียด ผลกระทบด้านจิตใจ เช่นอาการหวาดกลัว ฝันร้าย สะดุ้งตกใจง่าย หลับยาก รู้สึกว่าตัวเองผิด เป็นต้น ระยะที่2 คือช่วง2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน จะประเมินสภาวะเครียดรุนแรงซ้ำ และระยะที่ 3 คือช่วง 3 เดือนขึ้นไปหลังเกิดเหตุ ส่วนในรายที่เป็นผู้ใหญ่ แผนการดูแลจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะเช่นเดียวกับเด็ก แต่จะมีการประเมินระดับความเครียด คัดกรองอาการซึมเศร้าเป็นระยะๆ และดูแลจนกว่าสภาพจิตใจจะกลับมาสู่สภาวะปกติ ซึ่งญาติและเพื่อนบ้านจะมีส่วนสำคัญในการช่วยกันประคับประคองจิตใจ ให้กำลังใจ จะช่วยให้ผู้ประสบปัญหา ก้าวข้ามความทุกข์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคเครียดสะเทือนขวัญหรือโรคบาดแผลทางใจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม สามารถเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ข่าวเด่น