บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ รุกงานกำกับคุณภาพและมาตรฐานบัตรทอง เปิดเวทีประชุมอนุกรรมการฯ เขตพื้นที่และเครือข่ายภาคี ร่วมสรุป 2 ปีผลดำเนินงาน เปิดรับฟังข้อเสนอแนะ สู่การปรับปรุงและพัฒนา ขับเคลื่อนระบบต่อเนื่อง เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เป็นเจ้าของระบบร่วมกัน

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน 2 ปี การกำกับคุณภาพมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิระดับเขตพื้นที่ “Commitment & Reflection” โดยมีกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน อนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ อนุกรรมการพิจารณาคำร้องของรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัด ผู้แทนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระฯ มาตรา 50(5) ผู้แทนศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ เครือข่ายและภาคีเข้าร่วมประมาณ 500 คน
การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา พร้อมสร้างความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบในการพัฒนาระบบ ตลอดจนการวางแนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานของคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานในระดับพื้นที่และเครือข่ายภาคีให้การดำเนินงานและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
“การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีหัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้จึงนับเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วม นำมาสู่การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีของการทบทวนการดำเนินงานและอุปสรรคต่างๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยมีการเปิดกว้างเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างส่วนกลางและระดับพื้นที่ รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง พัฒนา และวางแผนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อความเป็นเจ้าของร่วมกัน” ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ เป็นไปตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้การรับบริการสุขภาพภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินไปอย่างมีคุณภาพมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ปัจจุบันได้ดำเนินงานต่อเนื่องปีที่ 3 จากวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี (ปี 2559-2562) และจากการดำเนินงานช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2560) ได้ขับเคลื่อนงาน อาทิ การกำกับคุณภาพมาตรฐานระดับภาค, การตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้งคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ อนุกรรมการ ม.41 ระดับจังหวัด และอนุกรรมการกำกับติดตามฯ ไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ,
การกำหนดมาตรการ/ข้อเสนอเพื่อกำกับและมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ,
ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานหน่วยบริการในบริการสำคัญ เช่น ไตวาย หัวใจ ผ่าตัดตาต้องกระจก เป็นต้น
รวมถึงการให้ความเห็นประกอบการจัดทำคำของบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปรับปรุงแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ด้วยการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และจริงใจ ทำให้ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ
“แม้ว่าคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จะมีบทบาทในการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน แต่ในการดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ที่ผ่านมา มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งกับประชาชนและผู้ให้บริการ ตามแนวทางการสร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้าง ความยั่งยืนให้กับระบบต่อไป” ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ กล่าว
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ช่วงระยะเวลาของการทำหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน 2 ปีจากนี้ ยังคงมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มุ่งพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมคุ้มครองสิทธิในการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเน้นความร่วมมือกับอนุกรรมการฯ ระดับพื้นที่ เครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยยั่งยืน
ข่าวเด่น