แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK หนุน 'ผู้ส่งออกไซส์ M' เติบโต ออก 2 บริการใหม่สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ให้วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ ปีแรก 4.25%


EXIM BANK เปิดบริการใหม่สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลางเป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท และสินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลางเป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังส่งออก วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท พร้อมวงเงิน Forward Contract ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทยให้ได้ตามเป้าหมาย ส่งเสริมการจ้างงาน และเสริมศักยภาพให้ผู้ส่งออกขนาดกลางเติบโตเป็นผู้ส่งออกขนาดใหญ่ได้มากขึ้น 

 

 

   

 

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า เอ็กซิมแบงก์ได้ออกบริการใหม่ให้กับผู้ส่งออกขนาดกลาง (ไซส์ M ) ทึ่มียอดขายตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขยายกิจการส่งออก-นำเข้า และยกระดับกระบวนการผลิต และด้านเครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยออกสินเชื่อใหม่ 2 ประเภท  1. สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลาง (EXIM for M Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อช่วยสภาพคล่องก่อนและหลังการส่งออก วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรก ขั้นต่ำอยู่ที่ Prime Rate -2.00% ต่อปี (หรือ 4.25% ต่อปี) ปีที่ 2 ขั้นต่ำ Prime Rate -1.50% ต่อปี (หรือ 4.75% ต่อปี) ปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นไปตามมาตรฐานธนาคาร พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ ใช้หลักประกันขั้นต่ำ 35% และบุคคลค้ำประกัน โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไว้ 2 พันล้านบาทจนครบโปรแกรม

2.สินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง (EXIM Nego for M Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังการส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรก ขั้นต่ำอยู่ที่ Prime Rate -2.00% ต่อปี (หรือ 4.25% ต่อปี) ปีที่ 2 ขั้นต่ำ Prime Rate -1.50% ต่อปี (หรือ 4.75% ต่อปี) ปีที่ 3 เป็นต้นไป เป็นไปตามมาตรฐานธนาคาร พร้อมวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ ใช้หนังสือค้ำประกันของ บสย. และบุคคลค้ำประกัน หรือหลักประกันขั้นต่ำ 30% และบุคคลค้ำประกัน โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไว้ 1 พันล้านบาท ซึ่งทั้งสองบริการนี้มีระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 

 

 

คลิกชมคลิป

 

ที่ผ่านมาเอ็กซิมแบงก์ได้ออกบริการสนับสนุนผู้ส่งออกรายย่อยไซส์ S มาโดยตลอด จนกิจการเขาเติบโตและขยายเป็นผู้ส่งออกขนาดกลางไซส์ M เราจึงเข้าไปช่วยสนับสนุนต่อเนื่องด้วยบริการใหม่ ซึ่งปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์มีลูกค้าไซส์ S อยู่กว่า 2 พันราย ฉะนั้นเราจะเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มไซส์ S ที่ขยายกิจการขึ้นมาเป็นไซส์ M เราก็พยายามเข้าไปช่วยเหลือมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องหลักประกัน ที่เรากำหนดหลักประกันขั้นต่ำแค่ 30-35% เพราะเราอยากช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและขยายการส่งออกได้มากขึ้น แต่ผู้บริหารก็ต้องค้ำประกันด้วยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจไม่หนีหนี้ เพราะจริงๆแล้วหลักประกันไม่คุ้มหนี้ ซึ่งหลักประกันแบบนี้คิดว่าแบงก์พาณิชย์คงไม่ทำแน่ แต่เอ็กซิมแบงก์ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการไซด์ M ให้เติบโต จึงทดลองทำดูนายพิศิษฐ์กล่าว

 

 

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายทั้งสองบริการนี้มีวงเงินรวม 3 พันล้านบาท แต่จำนวนรายเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ แต่อยากจะปล่อยให้ได้มากที่สุด หากให้สินเชื่อประมาณรายละ 20-30 ล้านบาท ก็จะสามารถช่วยผู้ส่งออกไซส์ M ได้ถึง 100-200 ราย อย่างไรก็ตาม หากวงเงินหมด อนาคตก็อาจจะมีการขยายวงเงินเพิ่มขึ้นได้ เรายินดีที่จะพิจารณาทบทวนวงเงินเพิ่มขึ้น

 


 

 

สำหรับความสำคัญของ SMEs ต่อระบบเศรษฐกิจไทยนั้น กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า SMEs ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งภาคการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง ไซส์ M ของไทยที่ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีจำนวนไม่ถึง 1% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ส่งออกขนาดกลาง คิดเป็น 10% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 28,000 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไซส์ M นี้ สามารถสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ในสัดส่วนสูง กล่าวคือ สนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ถึง 12.5% ของ GDP รวม (1.79 ล้านล้านบาท) ก่อให้เกิดการจ้างงาน 7.4% ของการจ้างงานรวม (1.09 ล้านราย) และมีสัดส่วน 9.4% ของมูลค่าส่งออกรวม (7.1 แสนล้านบาท) 

เอ็กซิมแบงก์มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่การสร้างกลุ่มผู้เริ่มต้นส่งออกให้มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด การสร้างกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กให้มีศักยภาพสูงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็งและพร้อมจะขยายกิจการ ไปจนถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่สามารถนำผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จในระยะยาว ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสมากมายในโลกธุรกิจยุคใหม่นายพิศิษฐ์กล่าว

 


คลิกชมคลิป

 

ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์มองว่า สำหรับค่าเงินที่ค่อนข้างผันผวน ปัจจุบันไม่ค่อยมีผลกระทบมากนักกับผู้ส่งออกเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการทั้งส่งออกและนำเข้าปรับตัวต่อความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี และทางเอ็กซิมแบงก์ก็มีบริการด้านการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้ด้วย

ส่วนเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย นายพิศิษฐ์มองว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ระดับทรงตัว หรืออาจปรับขึ้นเล็กน้อย 0.25% ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงมากแม้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อดอกเบี้ย คือ อัตราเงินเฟ้อ หากอัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยให้ปรับสูงขึ้นมากได้

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของเอ็กซิมแบงก์ที่ตั้งไว้สิ้นปี 2561 จะทำให้ได้ถึง 1 แสนล้านบาท ขณะนี้ตัวเลขอยู่ในเกณฑ์เร็วกว่าที่คาด โดยตัวเลข สิ้นเดือน ..2561 อยู่ที่ 98,226 ล้านบาทแล้ว ขาดอีกเพียง 1,774 ล้านบาท ก็จะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 1 ไตรมาส หรือ 4 เดือน ที่จะยังปล่อยสินเชื่อได้ ฉะนั้นคิดว่าอย่างไรก็ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน


LastUpdate 24/08/2561 09:15:39 โดย : Admin
10-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 10, 2025, 2:32 am