Thailand 4.0 ในภาคการเงินมีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ การโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ในกลุ่มรายย่อยได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และกำลังจะพัฒนาไปสู่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ
ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย National e-Payment กำลังพิจารณาเพิ่มวงเงินการโอนเงิน โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนผ่านระบบพร้อมเพย์เป็นไม่เกิน 2 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาท โดยทางสมาคมธนาคารไทยที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เห็นด้วย ไม่ขัดข้องที่จะปรับเพิ่มวงเงินการโอนโดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกจะปรับเพิ่มวงเงินการยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็น 7 แสนบาท ก่อน โดยจะเริ่มทำภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ หลังจากนั้นจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาท เพื่อรองรับระบบการชำระเงินในตลาดทุน ทั้งนี้ปัจจุบันมีคนมาลงทะเบียนในระบบพร้อมเพย์มีอยู่จำนวน 44.3 ล้านราย มีการโอนผ่านระบบนี้รวม 2.6 ล้านล้านบาท เป็นจำนวนรายการ 525 ล้านรายการ การโอนเงินโดยเฉลี่ยผ่านระบบพร้อมเพย์อยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อรายการ
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การขยายเพดานวงเงินโอนผ่านพร้อมเพย์โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้นนั้น ได้มีการหารือกันแล้วว่า ให้แต่ละธนาคารกำหนดการขยายเพดานกันเอง เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจมาใช้บริการการโอนเงินดังกล่าว เนื่องจากเดิมลูกค้านิยมใช้เช็คกันส่วนใหญ่ ดังนั้นหากมาใช้โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ จะช่วยให้ลูกค้าใช้เช็คน้อยลง ถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งลูกค้าและธนาคาร ส่วนผลกระทบด้านรายได้ก็มีค่อนข้างน้อย เพราะปัจจุบันธนาคารก็ไม่ค่อยมีรายได้จากธุรกรรมส่วนนี้อยู่แล้ว

ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ส่งเสริมการชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนท์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ขณะที่แบงก์เองก็ได้ประโยชน์ ประหยัดต้นทุนการบริหารเงินสด
ซึ่งล่าสุดอีเพย์เม้นท์รวมทุกช่องทางเพิ่มขึ้นมาก สามารถทดแทนการใช้เงินสดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เกือบ 10% โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ส่งเสริมให้มี โปรดักส์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคประชาชน หลังจากนี้ก็จะขยับไปสู่ภาคธุรกิจ เพราะมีวอลุ่มมาก
สำหรับยอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์ล่าสุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์ วอลุ่มเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะการโอนเงินต่างๆมาอยู่บนช่องทางพร้อมเพย์
ขณะที่ ธุรกรรมการเบิกถอนเงินสดในช่องทางสาขาก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ทำให้แบงก์ก็ต้องปรับรูปแบบสาขามากขึ้น จากเดิมเป็นฟูลเซอร์วิส จะปรับสาขาธุรกิจ เป็นลักษณะทำสินเชื่ออย่างเดียว ให้คำแนะนำเอสเอ็มอี เป็นเฉพาะทางมากขึ้น

ด้านกระทรวงพาณิชย์ นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บอกถึงแนวโน้มธุรกิจ E-Commerce และธุรกิจ Logistics Express ที่ได้ทำการศึกษาโดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ พบว่า แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2560 มีมูลค่ารวมประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86%
แบ่งเป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B จำนวน 1.675 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น8.63% ประเภท B2C จำนวน 812,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.54% และอีคอมเมิร์ซประเภทอื่นๆ 324,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวเด่น