กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยกความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ช่วยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทย กลุ่มกสิกรรม ปศุสัตว์และประมง (ไม่รวมสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร) ปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 245 เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยมีผลใช้บังคับ เผยหากความตกลงที่อยู่ระหว่างเจรจาสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยอีกมาก พร้อมชวนเกษตรกรและผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ 13 ฉบับของไทยอย่างเต็มที่
.jpg)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรไทยในช่วงที่ผ่านมา ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีความตกลงค้าเสรี หรือเอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย ปัจจุบันไทยมีความตกลงเอฟทีเอแล้ว 13 ฉบับ กับ 17 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และชิลี ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ส่งออกจากประเทศไทย ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปขายในประเทศคู่เอฟทีเอได้เปรียบคู่แข่งขัน และมีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย กลุ่มกสิกรรม ปศุสัตว์และประมง (ไม่รวมสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียน หรือ อาฟต้า มีผลบังคับใช้ ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ตลาดโลกราว 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลกกว่า 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 245 นับจากความตกลงเอฟทีเอของอาเซียนมีผลใช้บังคับ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปยังประเทศคู่เจรจา 17 ประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย 14.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 64 ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก คือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนเป็นอันดับที่ 1 มูลค่ากว่า 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 738 เมื่อเทียบกับปี 2545 ก่อนที่จีนจะเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตรให้ไทย สำหรับอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 2 ไทยส่งออกไปมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 667 เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่อาเซียนจะเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตร และญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยอันดับที่ 3 ซึ่งไทยส่งออกมูลค่ากว่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับปี 2549 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลดภาษีสินค้าเกษตร โดยสินค้าเกษตรที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกอันดับต้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลไม้สดและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับความตกลงเอฟทีเอที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา ในปี 2561 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรกับสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) 16 ประเทศ เป็นมูลค่า 14,705 ล้านเหรียญสหรัฐ การค้ากับสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บีมสเทค) 7 ประเทศ เป็นมูลค่า 580 ล้านเหรียญสหรัฐ การค้ากับตุรกี มูลค่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐ การค้ากับปากีสถาน มูลค่า 106 ล้านเหรียญสหรัฐ และการค้ากับศรีลังกา มูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนเจรจาเอฟทีเอในอนาคตกับกลุ่มประเทศที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูง เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่ในปี 2561 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรด้วยเป็นมูลค่า 2,236 ล้านเหรียญสหรัฐ สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) มูลค่า 43 ล้านเหรียญ และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) มูลค่า 68 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ไทยจะสามารถขยายตลาดใหม่ สร้างความได้เปรียบและโอกาสในการค้าให้สินค้าเกษตรของไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยิ่งขึ้น
นางอรมน เสริมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ที่ไทยได้รับจากประเทศคู่เอฟทีเอลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าเกษตรส่งออกจากไทยให้เต็มที่ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี หากผู้ประกอบการไทยสนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555
ข่าวเด่น