แบงก์-นอนแบงก์
ประคองลูกหนี้ไม่ให้จมน้ำ ''กรุงศรี คอนซูมเมอร์'' ยืดหนี้ 96 เดือน


คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ความหวาดผวาในเรื่อง NPL ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังคงมีอยู่ในระบบการเงินไทย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้เอง และตัวลูกหนี้เองที่ยังคงมีภาระหนี้เป็นสัดส่วนที่มากกว่ารายได้ แม้ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะออกมาตรการมาช่วยเหลือมา 2 ระยะแล้วก็ตาม แต่มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมระยะที่ 2 ของธปท. ทั้งลดการจ่ายขั้นต่ำ,ลดดอกเบี้ย,เพิ่มวงเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และไม่เป็นลูกหนี้ NPL กำลังจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธ.ค.2563 นี้ หลังเริ่มมาตรการระยะที่ 2 มาตั้งแต่ 1 ก.ค.2563 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น

ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันที่ปล่อยกู้ให้รายย่อยเกิดความกังวล เพราะหากมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 หมดลงในสิ้นปีนี้ และไม่มีมาตรการระยะที่ 3 เข้ามาเพิ่มเติม แน่นอนหนี้เสียย่อมเกิดขึ้นอีกมาก และทำให้ตัวเลข NPL ของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น และต้องตั้งกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ ธปท. ซึ่งนั่นหมายถึง ผลกำไรที่เกิดจากผลการดำเนินงานก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งจะกระทบต่อเงินปันผลที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น และกระทบต่อราคาหุ้นธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ฯ


เกี่ยวกับประเด็นนี้ น.ส.ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า เชื่อว่า NPLปีนี้ของบริษัทฯ จะไม่เกิน 2.5% อย่างแน่นอน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% แล้วก็ตาม (เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.ที่ช่วงก่อนโควิด-19 มี NPL อยู่ที่ 2.14% แบ่งเป็น NPLบัตรเครดิต 1.51% จากเดือนก.พ. 1.37% NPLสินเชื่อส่วนบุคคล 3.02% จากเดือนก.พ. 2.9%) เนื่องจากบริษัทฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ก่อนที่มาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ของธปท. กำลังสิ้นสุดลงสิ้นปีนี้ โดยมีมาตรการที่สำคัญ  คือ มาตรการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปถึงสูงสุด 96 เดือน ซึ่งสูงที่สุดในระบบ จากปกติระยะเวลาการผ่อนชำระแค่ 48 เดือน และปรับลดดอกเบี้ยพิเศษเหลือ 12% ต่อปี


“ทิศทางภาพรวม NPL ของระบบการเงินไทยมีแนวโน้มที่ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังหมดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 สิ้นปีนี้ หนี้เสียน่าจะเพิ่มขึ้นจากลูกหนี้ที่ยังไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ คาด NPL จะขยับขึ้นสูงสุดในไตรมาสแรกปี 2564 ฉะนั้นประเด็นนี้บริษัทฯจึงมีความเป็นห่วงลูกค้ารายย่อย จึงออกมาตรการยืดหนี้ เป็นระยะเวลาสูงสุด 96 เดือน และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้-ลดดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยให้ NPL ของบริษัทฯไม่น่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2.5% และยังจะช่วยต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ประคองตัวอยู่ได้ไม่เป็น NPL นอกจากนี้ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ เตรียมปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยนำเอาดิจิทัล และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยกระดับคุณภาพการบริการ” น.ส.ณญาณีกล่าวย้ำ

ประธานกรรมการ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ตั้งแต่เดือนก.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน มีลูกหนี้มาขอปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทฯแล้วกว่า 3.2 หมื่นบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อราว 2.5 พันล้านบาท คาดว่ามาตรการยืดหนี้ 96 เดือน ที่ออกไป จะมีลูกหนี้มาขอยืดหนี้อีกเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังไม่กลับสู่สภาวะปกติ รายได้ของรายย่อยยังไม่ได้มีมากเกินภาระหนี้สิน

ฉะนั้น ใครที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของบัตรกรุงศรี และอยากเข้าโครงการยืดหนี้ 96 เดือน ก็สามารถติดต่อได้ที่กรุงศรีคอนซูมเมอร์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ในส่วนลูกหนี้ที่เป็น NPL ไปแล้ว ล่าสุด ธปท. ได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือเยียวยา “ยา 2 สูตร”  คือ ลดดอกเบี้ย และพักชำระหนี้ ออกไปอีก 9 เดือน จนถึงเดือน มิ.ย.2564 จากเดิมสิ้นสุดเมื่อเดือน ก.ย.2563

หวังว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ดำรงชีพอยู่ได้ จากนั้นเมื่อมาตรการทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดลง คงต้องมาลุ้นกันอีกทีว่า กลุ่มลูกหนี้เหล่านี้จะเป็นอย่างไร..และรัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อไป...ต้องติดตามอย่ากระพริบตา!!!

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ย. 2563 เวลา : 09:00:29
09-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 9, 2025, 6:17 pm