นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย แถลงผลการประชุมวันนี้ (7ก.ค.2564) ว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่รวดเร็วและรุนแรง ซึ่งกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0-1.5% โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 0.5-2%
ส่วนการส่งออก จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด กกร.จึงปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 เป็นขยายตัว 8 - 10% จากเดิมคาดจะเติบโต 5-7% แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดจะอยู่ในกรอบ 1.0 - 1.2% ตามประมาณการณ์เดิม
“การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า ขณะที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้รัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงาน และรายได้แรงงาน ในพื้นที่ที่ถูกควบคุมนอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัว ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดช่วงไตรมาสที่สาม และอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดให้ ได้โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย”นายผยงระบุ
นายผยงกล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพิ่มเติม เพราะการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น สะท้อนการสำรวจโดย ธปท.ในเดือน มิ.ย. ที่พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าธุรกิจอาจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งช้ากว่าเดิม 6 เดือน
กกร.จึงมี 4 ข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ
1.มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น โดย กกร.เสนอให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคาร จาก 40% เป็น 70% และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีที่ 1-3 เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้การให้ความช่วยเหลือ SME ภายใต้โครงการ Faster Payment ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการได้รับการชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนิน การ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง
2.เรื่องการจัดสรรวัคซีน ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล การกระจายวัคซีนไปยังศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ ที่พร้อมจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐบาลมากระจายและเร่งการฉีดที่ 25 ศูนย์ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการฉีดได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน และมีมาตรฐานในการรองรับผู้ฉีด ทุกกลุ่ม โดยขอให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดฯ ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบในภาพรวม โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีน และมีจุดยืนของวัคซีนทางเลือกที่ชัดเจนให้เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว หรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยนำบทเรียนจากจัดหาวัคซีนรอบแรกมาปรับแผน เพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนที่พร้อมต่อการรับมือกับเชื้อโควิด 19 ที่กลายพันธุ์
และขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และหัวเมืองสำคัญ ที่มีสัดส่วนสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 40% ของ GDP
3.สำหรับแผนในระยะยาว กกร. สนับสนุนให้ประเทศไทยต้องดำเนินการในการพัฒนาระบบ Digital Vaccine Passport โดยเฉพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุม APEC 2022 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งคนไทยในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยต้องให้ระบบและข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนทั้งในประเทศ INBOUND OUTBOUND ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Open API ในการเชื่อมต่อต่อข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกับภาคส่วนต่างๆ
4.การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ กกร.สนับสนุนการพัฒนากองเรือของชาติ เพื่อส่งเสริมเรือที่เป็นของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ชักธงไทยบนเรือ โดยให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกด้านกฎ/ระเบียบ ตลอดจนโครงสร้างภาษี รวมทั้งเร่งรัดการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. ... ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อมีระเบียบรองรับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลพาณิชยนาวี แบบองค์การมหาชน ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีโดยตรง เพื่อให้กองเรือไทย ธุรกิจพาณิชยนาวีไทย แข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม
หากภาครัฐต้องการมีบทบาทในการผลักดันกองเรือไทย โดยการมีกองเรือที่ภาครัฐมีส่วนร่วม ขอให้ใช้กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ บริษัท บทด จำกัด ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่แล้ว เป็นกลไกส่งเสริมกองเรือและพาณิชยนาวีไทย ก็จะมีความคล่องตัวและเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากองเรือของชาติ ซึ่งมีภาคเอกชนโดยกกร.เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้หากมีการกระจายวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนได้มากที่สุด จะช่วยให้วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องการจัดหาวัคซีน โดยไม่ควรกำหนดว่าวัคซีนตัวใดเป็นวัคซีนตัวหลัก วัคซีนตัวใดเป็นวัคซีนทางเลือก แต่ทุกฝ่ายควรจะช่วยกันจัดหาวัคซีนมาใช้งานให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด
ส่วนกรณีที่อาจมีการยกระดับมาตรการควบคุม หากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ด้วยการล็อคดาวน์นั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ควรพิจารณากำหนดจุดและมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน เช่น หากจะปิดแคมป์ก่อสร้าง ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำเสนอแนวทางแก้ไข หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงค่อยมีคำสั่งล็อกดาวน์ ซึ่งคิดว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และเป็นเรื่องที่ติดตามดูอย่างใกล้ชิด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐดูแลเรื่องการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนอย่างเพียงพอและรวดเร็ว ขณะที่ภาคเอกชนเตรียมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การนัดประชุม CEO จำนวน 40 บริษัท เพื่อหารือมาตรการรองรับการเปิดประเทศ, การเข้าพบ นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เพื่อหารือถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุน
ข่าวเด่น