กสิกรไทย มอง 4 เดือนที่เหลือของปี ธปท.อาจต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น มีความเป็นได้ 40% ที่ กนง.จะตัดสินใจ “ลดดอกเบี้ย” ช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ย้ำ”นโยบายการเงิน-นโยบายการคลัง”ต้องทำควบคู่กันถึงจะสัมฤทธิ์ผล ชี้“ภาคส่งออก” เริ่มเห็นทางสว่าง ช่วยดึงเศรษฐกิจขึ้น ไม่ถลำลงไปลึก
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยในงานสัมมนา Economic Outlool : Thailand Forecast ว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ 40% ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 0.50% ต่อปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
“จะเห็นได้ว่าการประชุม กนง.ที่ผ่านมาเมื่อ 4 ส.ค.64 คณะกรรมการมีเสียงแตก โดยกรรมการ 2 ราย เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อีก 4 ราย ยังคงให้คงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม แต่ในส่วนกสิกรไทยมองว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายลง ผู้ที่ได้ประโยชน์อาจจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่ม ที่เป็นบริษัทใหญ่มีเครดิตเรตติ้งที่ดีในระดับ AAA และกลุ่มที่มีคุณภาพสินเชื่อที่ดี รวมถึงภาครัฐที่ต้นทุนการเงินของกระทรวงการคลังจะลดลงจากการจัดหาเงินมาใช้ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ”นายกอบสิทธิ์กล่าว
นายกอบสิทธิ์กล่าวต่อว่า ด้วยสถาวะการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ตนมองว่า การดำเนินนโยบายการเงินและการดำเนินนโยบายการคลัง ควรที่จะต้องทำควบคู่กัน เพื่อช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลึกลงไปกว่านี้
.jpg)
ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังกำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก จากปัจจัยลบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เร่งตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. 64 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ระดับสูง ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างในหลายเซกเตอร์ที่ตัวเลขเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ชะลอตัวลงจนกดดันต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ต้องปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยลงมา ติดลบ 0.5% จากการที่การบริโภคในประเทศเกิดการชะลอตัวลงแรง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องหยุดชะงักไปกว่า 1-2 เดือนจากมาตรการล็อกดาวน์ จนกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ภาคบริการมีดุลบริการที่หดตัวลงมาก หลังการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว ทำให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวหายไปจำนวนมาก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง โดยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวลงเหลือ 200,000 คน จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 250,000 คน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเศรษฐกิจที่ถือว่าเริ่มกลับมาดีขึ้นในขณะนี้ คือ”ภาคการส่งออก” ที่น่าจะเติบโตขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จากภาวะเศรษฐกิจโลกในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯและยุโรปที่ฟื้นตัวขึ้น จึงปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกปีนี้ เติบโตเพิ่มขึ้น 12.4% จากเดิมมองไว้ที่ 11.5% ทั้งนี้ การเติบโตของภาคการส่งออก ถือเป็นปัจจัยบวกปัจจัยเดียวที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ไถลลงลึกไปมากกว่านี้
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คงต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างแน่นอน จากความไม่ชัดเจนในนโยบายของสหรัฐ เรื่องลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์และการดึงสภาพคล่องกลับของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่แกว่งตัวไปมา โดยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มค่าเงินบาท น่าจะอ่อนค่าลง และมาแตะระดับ 32.75 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2564 จากเดิมมองไว้ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น