
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ “TLI” ได้เดินหน้าแผนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 2,316.7 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วน เกิน) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ร่วมเป็นเจ้าของและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในฐานะบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เป็นแบรนด์ของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย โดยมีจุดเด่นในการเป็น "Life Solutions Provider" เป็นทุกคำตอบด้านการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการวางแผนการเงินส่วนบุคคล พร้อมกำหนดราคาเสนอขาย หุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 37,067 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นับเป็น IPO ของหุ้นในหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และยังมีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากปี 2543 พร้อมกระแสการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั่วโลก โดยมีนักลงทุนสถาบันคุณภาพที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนรวม 18 ราย ลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้น TLI เพื่อเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นจำนวนหุ้นรวม 1,158.4 ล้านหุ้น หรือประมาณร้อยละ 50.0 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
นับตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุค New Normal ที่ทั้งความคิด พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนอย่างมีนัยสำคัญ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการดูแลสุขภาพ เพราะไวรัสโควิด-19 นั้นเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่โลกของเราในช่วงปี 2563 ไม่ได้คุ้นชินกับการตั้งรับไวรัสชนิดนี้มาก่อน ทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของปัญหาด้านเศรษฐกิจ อย่างการล้มหายตายจากของผู้ประกอบการ การเลิกจ้างพนักงาน และปัญหาทางด้านสาธารณสุข ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนเป็นที่น่าหวาดระแวง ความไม่แน่นอนในชีวิตที่ทุกคนได้ประสบพบเจอ ด้วยตัวของตัวเองนั้น ทำให้คนส่วนใหญ่มี Awareness ในเรื่องของการดูแลสุขภาพตัวเองสูงขึ้น และมองหาหลักประกันเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจากความหวาดกลัวของไวรัสดังกล่าว อย่างการทำประกันโควิด-19
แม้ในตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเริ่มทรงตัว และธุรกิจต่างๆก็กลับมาอยู่ในสภาวะเกือบจะเป็นปกติแล้ว แต่ไลฟ์สไตล์ที่คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองนั้นไม่ได้หายไป แต่กลับกลายเป็น Perception ใหม่ของคนในสังคมไทยในระดับสาธารณะไปแล้ว นอกจากนี้ ในแง่มุมของประชากรสังคมไทยของเรากำลังก้าวเข้าสู่ Aging Society หรือ สังคมผู้สูงอายุ อ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้แสดงข้อมูลจำนวนการเกิดประจำปี 2564 พบว่า มีประชากรเกิดทั้งหมด 544,570 คน ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ และเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการเกิดน้อยกว่าการตาย และในปี 2565 นี้คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2576 คาดว่าจะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงสามารถสะท้อนได้ว่า ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้นมีความน่าสนใจ ประกอบกับประเทศไทยยังมีการซื้อกรมธรรม์ในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยในไทยมีสัดส่วนอยู่เพียง 3.8% ขณะที่สิงค์โปร์อยู่ที่ระดับ 10.2% ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีพื้นที่ในการเติบโตของธุรกิจประะกันภัยอีกมากในอนาคต ซึ่งหากกลับมาดูบริษัทประกันภัยของไทย "ไทยประกันชีวิต" ถือว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง เพราะไทยประกันชีวิต ถือเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของไทย ที่ดำเนินการอยู่คู่คนไทยมา 80 ปีแล้ว ซึ่งในแง่ของตัวแบรนด์ก็มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับและจดจำทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างสื่อโฆษณาต่างๆ ที่มีความซาบซึ้งTouchใจผู้คนจนเป็นที่จดจำอันดับแรกๆ หากพูดถึงบริษัทประกันชีวิตของไทย และหากพูดถึงในส่วนผลการดำเนินงานในปี 2564 ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 15% เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท สามารถสร้างกำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 11.3% ระหว่างปี 2562 – 2564 ขณะที่ในไตรมาส 1 ปี 2565 ไทยประกันชีวิต มีรายได้รวม 25,955 ล้าน บาท มีกำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 14.7% เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ประกอบกับในด้านของฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 360.6% ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่กำหนดไว้ที่ 140% อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาสถาบัน Fitch Ratings ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทฯไว้ที่ A- (ระดับสากล) และ AAA (tha) (ระดับภายในประเทศ) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทสามารถตอบสนองความ
ต้องการของลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย โดยเฉพาะเครือข่ายตัวแทนที่เป็นจุดแข็งของบริษัท ที่ทางไทยประกันชีวิตมีการอบรมและพัฒนาบุคลากรตัวแทนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คำแนะนำและนำเสนอกรมธรรม์ให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีจำนวนกว่า 64,000 คน กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของตัวแทนประกันชีวิตทั้งหมดในไทย สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ไทยประกันชีวิตได้รับความไว้วางใจ และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน (โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ไทยประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์)
การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ของไทยประกันชีวิตก็เพื่อเป็นการต่อยอดการเป็นบริษัทประกันชีวิตที่จะสามารถตอบสนองความต้องการให้กับทุกคนๆ ซึ่งในตอนนี้โลกกำลังเคลื่อนที่และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจ ไทยประกันชีวิตจึงได้ มีการปรับ Business Purpose ใหม่ เพื่อให้บริษัทสามารถยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและผู้คน ด้วยการวางตัวเป็น Data Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลได้อย่างแท้จริง
การระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนใน 3 ด้าน ได้แก่
1.ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transforma7on) และการทำการตลาด
2.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร
3.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุนทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต
หากส่องดูกระแสของหุ้น TLI นี้ ได้รับการตอบรับที่ดี แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน โดยได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น และมีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศรวม 18 ราย สนใจลงทุนเป็น Cornerstone Investors ประกอบด้วย นักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น GIC Private Limited, Oaktree Capital Management เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทยได้แก่ บลจ. กสิกรไทย,บลจ. ไทยพาณิชย์,บลจ. กรุงศรี,บลจ. กรุงไทย,บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 50.0% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดในครั้งนี้
หุ้นสามัญของไทยประกันชีวิตที่จะเสนอขายในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20.2 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการ IPOในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น (1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 850,000,000 หุ้น (2) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,166,575,300 หุ้น และ (3) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น และอาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over- allotment Option หรือ Greenshoe) อีกจำนวนไม่เกิน 161,630,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 7.5 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) ในช่วง 30 วันแรกหลังหุ้นของ TLI เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และได้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการเสนอขายหุ้นสามัญของ TLI ในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายร่วม รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)
สำหรับใครที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และหนังสือชี้ชวนของ TLI ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และสามารถติดตามข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับนักลงทุนสัมพันธ์ได้ที่เว็บไซต์ investor.thailife.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่ม เติมได้ที่โทร. 02-354-2424-5

ทั้งนี้ นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งกว่า 80 ปีในธุรกิจประกันชีวิต ผนวกกับการพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง วันนี้ไทยประกันชีวิตจึงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ผ่านการปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้าน โดยยกระดับสู่การเป็น Data Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบครบวงจรและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลได้อย่างแท้จริง การเสนอขายหุ้น IPO ของไทยประกันชีวิตในครั้งนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่มิติใหม่รองรับการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งความแข็งแกร่งของไทยประกันชีวิตในปัจจุบัน พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าไทยประกันชีวิตจะเป็นบริษัทประกันชีวิตที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนอยู่เคียงข้างดูแลลูกค้าและคนไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ ไทยประกันชีวิตจะนำไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านนวัตกรรมที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการและดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต
ข่าวเด่น