เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "การประชุม FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง ขณะที่ต้องจับตาตัวเลขประมาณการของเฟดในการประชุมครั้งนี้"


ในการประชุม FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง ขณะที่คงต้องติดตามตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นอีกจุดสนใจในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า


เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดยังคงมีมุมมองแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนส.ค. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ แม้ว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 8.3% YoY จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 8.5% YoY อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค. ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดคาดที่ราว 8.0% YoY ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูงนั้นกลับเร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.3% YoY ในเดือนส.ค. 2565 เทียบกับระดับ 5.9% YoY ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในภาพรวมที่ยังคงเร่งตัวสูงขึ้นเป็นวงกว้าง แม้ว่าราคาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันนั้นจะเริ่มปรับลดลง

นอกจากนี้ ในด้านของตลาดแรงงานนั้น ตัวเลขล่าสุดยังคงบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้อัตราว่างงานเดือนส.ค. จะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.7% จาก 3.4% ในเดือนก่อนหน้า โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง แต่ก็ชะลอตัวจากระดับ 526,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ในขณะที่ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ 4-10 ก.ค. 2565 ก็ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือนที่ 213,000 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงเผชิญภาวะตึงตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะชะลอแผนการจ้างงานใหม่มากกว่าการปรับลดคนงานที่มีอยู่

ดังนั้น จากตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุด เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก และมีมุมมองที่แข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ เฟดจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 ซึ่งจะนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อครั้งในการประชุม 3 รอบติดต่อกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้จะมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 1.00 ในการประชุม FOMC ที่จะถึงนี้ แต่ความเป็นไปได้สำหรับกรณีนี้นั้นคาดว่าจะมีน้อยกว่าในกรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 เนื่องจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปอาจสร้างความวิตกกังวลต่อตลาดได้ อย่างไรก็ดี การที่เฟดเลือกจะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.75 ก็ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของเฟดอยู่เช่นกัน เพราะหากอัตราเงินเฟ้อในช่วงข้างหน้ายังคงลดลงช้า ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวลงมาก การตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.75 ของเฟดก็อาจถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายน้อยเกินไป

สำหรับในระยะข้างหน้า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ย. และ ธ.ค. 2565 คงขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ความจำเป็นที่เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 0.75 อาจมีลดลง ส่งผลให้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงที่ครั้งละร้อยละ 0.25-0.50 ในการประชุมที่เหลือในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่เฟดกังวลยังคงไม่แผ่วลง คาดว่าเฟดคงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นอีกจุดสนใจในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ค่าเงินดอลลาร์ฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทของไทยให้มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปอย่างน้อยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ดี หากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจนและเฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าเงินในภูมิภาคคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ย. 2565 เวลา : 14:59:55
09-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 9, 2025, 2:31 am