เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ : ราคาน้ำมันดิบทรงตัว จากการคลายล๊อกดาวน์ในจีน และ gas-to-oil switching หนุนความต้องการใช้น้ำมันโลก ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 – 30 ก.ย. 65) 
 
ราคาน้ำมันดิบทรงตัว เนื่องจากตลาดคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน หลังจีนประกาศคลายล๊อกดาวน์เมืองเฉิงตู และผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในเมืองสำคัญต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและของโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ EIA รายงานเดือน ก.ย. 65 คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2022 ในช่วง Q4’22-Q1’23 มีแนวโน้มได้แรงสนับสนุนจาก gas-to-oil switching demand เนื่องจากราคาแก๊สที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากอุปทานที่ตึงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจหันมาใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัว
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
ตลาดคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน หลังจีนประกาศคลายล๊อกดาวน์เมืองเฉิงตูตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในเมืองกว่า 21 ล้านคนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติอีกครั้ง แต่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ร้านค้า และสถานที่สาธารณะต่างๆ ยังคงต้องแสดงผลการตรวจโควิด-19 ล่วงหน้า ขณะที่ในบางพื้นที่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนอย่างใกล้ชิด หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้จีนกลับมาล๊อกดาวน์อีกครั้ง
 
Rystad เดือน ก.ย. 65 รายงานความหนาแน่นของการจราจรในยุโรป (European Road Traffic) ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส เนื่องจากมีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น และคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ประกอบกับหลายประเทศฟื้นตัวจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
 
IEA เดือน ก.ย. 65 รายงานคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 2.0 และ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2022 และ 2023 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตามลำดับ โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก gas-to-oil switching demand ในช่วงฤดูหนาว (Q4’22-Q1’23) เนื่องจากราคาแก๊สที่ปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานที่ตึงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจหันมาใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติมากถึง 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของปีก่อนหน้า
 
ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันโลก หลัง FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 3.0-3.25% นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
 
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DOE) ขยายระยะเวลาเสนอขายน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์สหรัฐฯ (SPR) ปริมาณ 10 ล้านบาร์เรลโดยจะส่งมอบในเดือน พ.ย. 65 แทนแผนเดิมในเดือน ต.ค. 65 นี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนเดิมทั้งหมดปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ล่าสุดสต๊อกน้ำมันดิบจาก SPR ของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ย. 65 ปรับตัวลดลงมากถึง 8.4 ล้านบาร์เรล และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปี ซึ่งการปล่อย SPR นี้เพื่อช่วยบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวและราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง
 
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. 65 รายงานโดย Baker Hughes ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 8 แท่นสู่ระดับ 599 แท่น ส่งผลให้ EIA จากรายงานเดือน ก.ย. 65 คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 11.8 และ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขภาคการผลิต (PMI) เดือน ก.ย. 65 ของจีน ซึ่งตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.4 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Sentiment) ของยุโรปเดือน ก.ย. 65 ซึ่งตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -24.9 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 - 23 ก.ย. 65)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 88.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกหดตัว ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกเดือน ก.ค. และ ส.ค. 65 ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้อยุ่ 2.9 และ 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวันตามลำดับ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าทางกลุ่มอาจไม่สามารถปรับปริมาณการผลิตได้ตามเป้าที่วางไว้ในเดือนถัดไป เนื่องจากข้อจำกัดของกำลังการผลิตสำรองที่อยู่ในระดับต่ำ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ย. 2565 เวลา : 10:47:16
09-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 9, 2025, 2:34 am