ทิพยประกันภัย หรือ TIP โชว์กำไรไตรมาส 3 ที่ 470.05 ล้านบาท เติบโต 253.40% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเบี้ยประกันภัยรับ 9 เดือน แตะ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงช่องทางการขายร่วมกับพันธมิตร สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ขณะที่ TIPH เตรียมส่งบริษัท มีที่ มีเงิน และ InsurVerse สร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจ Non-Bank และธุรกิจประกันภัยดิจิทัล ภายในสิ้นปีนี้
.jpg)
ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของ ทิพยประกันภัย ในไตรมาส 3 ของปี 2565 นี้ ว่ามีการเติบโตขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด โดยมีกำไรสุทธิ 470.05 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 253.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 และเพิ่มขึ้นจำนวน 85.43 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเบี้ยประกันภัยรับของบริษัทฯ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 3 นี้มีเบี้ยประกันภัยรับรวมถึง 7,307.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 917.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.37 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 และเพิ่มขึ้น 1,248.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยเหตุที่ผลประกอบการในไตรมาส 3 นี้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นเพราะผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนสำหรับประกันภัยโควิด-19ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ลูกค้ามีการเข้ามาเคลมประกันโควิด-19 ประมาณกว่า 700 ล้านบาท ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายๆบริษัทประกันถูกถอนใบอนุญาตไป เนื่องจากรับภาระค่าสินไหมทดแทนไม่ไหว ประชาชนที่มีประสบการณ์จากเรื่องนี้ ก็ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะพิถีพิถันในการเลือกซื้อประกันภัยมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของทางทิพยประกันภัยที่มีภาพลักษณ์ที่ดี ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทฯ สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 2,392.34 ล้านบาท มาอยู่ที่ 21,790.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยรับในทุกผลิตภัณฑ์ และกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน อยู่ที่ 806.25 ล้านบาท (ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีกำไรสุทธิ จำนวน 336.21 ล้านบาท) และคาดว่าในไตรมาส 4 ที่เป็นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทฯ จะแตะ 30,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 20%
ทั้งนี้ในส่วนของการดำเนินงานภายใต้แผนธุรกิจของทิพยประกันภัย บริษัทฯจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบสนองและตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายร่วมกับพันธมิตรและยกระดับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนในธุรกิจรับประกัน อย่างประกันภัยรถยนต์ อิงจากยอดที่คาดการณ์เบี้ยประกันภัยรับรวม 30,000 ล้านนั้น จะมีการปรับพอร์ตแตกต่างจากเดิม โดยมีการปรับเบี้ยประกันภัยรถยนต์จาก 20% ในพอร์ต มาเป็น 25% เนื่องจากในช่วงที่ทั้งโลกอยู่กับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผู้คนมียอดการเดินทางที่ต่ำลงจากเดิมมาก ทำให้อัตราส่วนความเสียหาย หรือ Loss Ratio นั้นต่ำ แต่ตอนนี้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ จึงมียอดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ตัวเลข Loss Ratio ไต่ระดับขึ้นมา จึงจำเป็นต้องมีการขยับเบี้ยประกันภัยรถยนต์สูงขึ้น แต่บริษัทฯ จะแก้ปัญหาด้วยการใช้กลยุทธ์แบบ Niche Market และมีการเพิ่มเบี้ยประกันแบบ Selective ที่ตัวแปรคะแนนการขับรถของลูกค้ามาประเมิน โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายเป็นลูกค้ากลุ่มระดับบน เพราะจะเน้นในเรื่องของคุณภาพ ไม่ใช่กลยุทธ์แบบสงครามราคา
ส่วนโอกาสเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทฯอีก 1 ผลิตภัณฑ์ คือประกันสุขภาพ จากผลพลอยได้ของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิด New Normal ด้านพฤติกรรม โดยคนส่วนใหญ่มี Health Conscious มากกว่าเดิม และความเคลือบแคลงใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าสวัสดิการของรัฐที่มีอยู่อาจไม่เพียงพออีกต่อไป บริษัทฯจึงมีแผนที่จะพัฒนากรมธรรม์ในด้านสุขภาพมากขึ้นด้วย โดยจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าในทุกระดับ
ด้านสภาวะเงินเฟ้อที่ทั้งโลกกำลังประสบ ดร.สมพร กล่าวว่า ประกันภัยรายย่อยนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากนัก แต่ประกันโครงการใหญ่นั้นจะมีการเพิ่มเบี้ยประกันที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากการบริโภคที่มากเกินไป หากแต่เกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้นในด้านพลังงาน และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ที่มีผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเบี้ยประกันภัยโครงการใหญ่นั้นอิงกับตลาดโลก ทำให้เบี้ยประกันนี้อาจเพิ่มขึ้น 15-25% แต่ทั้งนี้บริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดี มี Loss Ratio ที่ต่ำ จึงสามารถเอาข้อได้เปรียบตรงนี้มาต่อรองได้
ในส่วนของ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ TIPH ดร.สมพร ระบุว่าการลงทุนของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เริ่มที่จะสะท้อนผลการดำเนินงานที่โดดเด่นตามที่บริษัทฯตั้งเป้าหมายไว้แล้ว โดยที่ผลการดำเนินงานปกติของบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มธุรกิจสนับสนุนประกันภัย (Insurance Supported Business) ได้แก่บริษัท อะมิตี้ อินชัวร์รันซ์ โบรคเกอร์ จำกัด หรือ Amity มีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 11.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ ในการขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และบริษัท ดีพี เซอร์เวย์ แอนด์ลอว์ จำกัด หรือ DP Survey มีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ 19.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 140.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากรายได้จากการสำรวจภัยเพิ่มขึ้นและการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทที่ TIPH ได้เข้าลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาได้แก่ บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด และ บริษัท เอราวัณประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มสร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจบริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) และธุรกิจประกันวินาศภัยได้ โดยที่บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง TIPH กับธนาคารออมสิน และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่ง TIPH ถือหุ้น 31% คาดว่าจะเริ่มให้บริการธุรกิจแรก คือ สินเชื่อที่ดิน รับจำนองและขายฝาก ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งภายใต้ Business Model ของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด จะช่วยให้ประชาชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงด้วยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยใน ณ ขณะนี้ บริษัทฯได้มีการทดลองปล่อยกู้เพื่อทดสอบตลอดเดือน พ.ย.นี้ จำนวน 100 ราย เพื่อดูว่าระบบมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบเรียบร้อย บริษัทฯจะนำร่องเปิดให้บริการ สินเชื่อที่ดิน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ โดยคาดการณ์ว่าในระยะเวลา 12 เดือน จะมียอดปล่อยกู้แตะ 10,000 ล้านบาท และสร้างผลกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก
ส่วนเอราวัณประกันภัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยดิจิทัล 100% แห่งแรกในประเทศไทยภายใต้ชื่อ InsurVerse ซึ่งจะไม่มีตัวแทน เป็นการขายตรงต่อตัวลูกค้า หรือ Personal Line เท่านั้น เบี้ยประกันของ InsurVerse จึงมีระดับราคาที่ต่ำกว่า หรือสามารถเพิ่มระดับความคุ้มครองได้เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% ได้ภายในสิ้นปีนี้ และมีเป้าหมายที่จะจับตลาดประกันภัยรายย่อยในรูปแบบออนไลน์จำนวน 50% ภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ ดร.สมพร กล่าวเสริมว่า TIPH มีแผนลงทุนเพิ่มอีก 3 บริษัท ได้แก่ ประกันภัยแบบอิสลาม หรือที่เรียกว่า ตะกาฟุล เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสในการตอบสนองผู้บริโภคในกลุ่มที่มีศักยภาพดังกล่าว และลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี ได้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์ และบริษัทที่เกี่ยวกับประกันภัย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจวินาศภัยของไทยควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่างๆ สอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไป
ข่าวเด่น