ประกัน
จับตา InsurTech ก้าวใหม่อุตสาหกรรมประกันภัยไทย


วิกฤตโควิด 19 ยังคงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งต่อชีวิต สังคม ธุรกิจ และเศรษฐกิจในวงกว้างทั่วโลก รวมถึงอุตสาหกรรมประกันภัยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงได้เห็นศักยภาพของภาคธุรกิจประกันภัยที่สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายประการในวันที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว พร้อมกับคำถามที่แทงใจใครหลายคนว่า เราจะเริ่มต้นใหม่กันอย่างไร? เราจะช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาได้อย่างไร? ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องหาคำตอบว่า เราจะให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมเชิงรุกกับประชาชนและภาคธุรกิจอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย
 
การ Disruption ในทุกมิติดังกล่าวข้างต้น กำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันภัยของโลกอย่างน่าสนใจ รวมถึงอนาคตของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้กระแส Digital Disruption อุตสาหกรรมประกันภัยตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี InsurTech เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนที่มีมาในอดีต อีกทั้งทำให้เกิดการผสมผสานการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก บริษัทประกันภัยสามารถเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ ขณะที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงการบริการและผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างทั่วถึง ต่อมาเมื่อเกิดปรากฏการณ์ COVID-19 Disruption ทำให้แนวโน้มของรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การสื่อสารกับลูกค้าจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น 

โลกใบใหม่หลังวิกฤติโควิด 19 ลูกค้าจะเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตของภาคธุรกิจ และความต้องการของลูกค้าจะเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมประกันภัย InsurTech จะเข้ามามีบทบาทพร้อมกับการสร้างความท้าทายให้กับหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายในแนวทางใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามตามมาว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะมีการกำกับดูแลอย่างไร และภาคธุรกิจจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับกติกาและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีอีกระดับของ Regulatory Technology และ Supervisory Technology 

Regulatory Technology (RegTech) เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการการจัดการด้านกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลของภาคธุรกิจรวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง ในขณะที่ Supervisory Technology (SupTech) เป็นการใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมโดยหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการกำกับดูแล ซึ่งทั้ง RegTech และ SupTech มีการเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่กับพัฒนาการของ Internet of Things (IoT), Machine Learning, Blockchain, Artificial Intelligence (AI) และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อนำพลังของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาสู่โลกแห่งการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมประกันภัยด้วย  

ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้กับ Parametric Insurance ซึ่งให้ความคุ้มครองเมื่อเกิดความเสียหายถึงระดับตามที่สัญญากำหนดไว้ โดยไม่ต้องรอผลสุดท้ายว่ามีความเสียหายเท่าใด เช่น ภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติรูปแบบอื่น ความล่าช้าของเที่ยวบิน เป็นต้น โดยระบบ Smart Contract จะระบุเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินไว้ และนำไปตรวจสอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งเอาไว้ ทำให้กลไกการจ่ายค่าเสียหายสามารถคำนวณได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้นำระบบดังกล่าวมาปรับใช้กับการประกันภัยข้าวนาปีและพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทยอีกด้วย
?
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของ RegTech ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ระบบ Dynamic Compliance ที่ใช้วิเคราะห์และติดตามการดำเนินการภายในเพื่อตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระบบฐานข้อมูลและระบบยืนยันตัวตน KYC/CDD (Know Your Customer and Customer Due Diligence) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย ระบบฐานข้อมูลกลางของ MAS (Monetary Authority of Singapore) หรือ ธนาคารกลางประเทศสิงคโปร์ ที่จัดทำฐานข้อมูลกลางของบุคคลที่เคยมาติดต่อราชการไว้ใช้งานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรือระบบ AI-based Auto Damages Assessment System ในประเทศจีน ที่นำ AI มาช่วยประมวลผลและคำนวณค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยลูกค้าจะถ่ายรูปความเสียหายส่งให้บริษัทประกันภัยผ่าน Application ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายจากการแจ้งเคลมได้กว่า 1 พันล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ หากเกิดภัยพิบัติที่บริษัทประกันภัยไม่สามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่เกิดเหตุได้ การใช้เทคโนโลยีโดรน (Drone) ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นเช่นกัน

ขอบคุณ 

ข้อมูล จาก สำนักงาน คปภ.

ภาพ จาก ธนาคารกรุงเทพ
 
 

LastUpdate 15/08/2566 21:17:06 โดย : Admin
13-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 13, 2025, 9:32 pm