เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : "ทองคำ" สินทรัพย์ปลอดภัย แต่ก็ยังมีความเสี่ยง ส่องข้อควรระวังก่อนตัดสินใจลงทุน


“ทองคำ” จัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสูงที่สุด เนื่องด้วยความเป็น Store of Value ที่ทองคำ มีคุณสมบัติเป็นแร่ธรรมชาติที่จับต้องได้ มีความคงทน ผลิตด้วยฝีมือมนุษย์เองไม่ได้ อีกทั้งยังจัดเป็นแร่ที่มีความหายาก ซึ่งตรงกับหลักการ Supply-Demand หรือสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นนับว่ามีมูลค่า ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนจึงมีความเห็นพ้องกันว่า “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ที่สามารกักเก็บมูลค่า และใช้มันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าสิ่งของมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 6,000 ปีก่อน แม้ว่าปัจจุบันนี้ มนุษย์เราจะเปลี่ยนไปใช้สิ่งที่เรียกว่า “เงินตรา” ในการแลกเปลี่ยนแทนก็ตาม แต่ทองคำก็ยังมีบทบาทหลัก ที่ใช้เอาไว้ค้ำในการผลิตออกมาเป็นเงินสด เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของผู้คน (หรือที่เรียกว่าการซื้อ-ขาย)
 
แต่เนื่องด้วยระบบการเงินหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากที่ทุกประเทศถือทองคำค้ำไว้ เพื่อผลิตเงินสดขึ้นมา ก็เปลี่ยนเป็นให้มีเพียงประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุด หรือสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ถือทองคำแทน ส่วนประเทศที่เหลือก็เพียงแต่นำเงินของประเทศดังกล่าว (ดอลลาร์สหรัฐ) ไปค้ำแทนทองคำ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโลกได้เห็นถึงความเสี่ยงของการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ในประเด็นสงครามความขัดแย้ง และการผูกติดกับเศรษฐกิจสหรัฐมากเกินไป ฉะนั้นสุดท้ายแล้ว “ทองคำ” จึงเป็นคำตอบเดียวที่สามารถปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของประเทศเอาไว้ได้ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เราจึงได้เห็นว่า ธนาคารทั่วโลกมีการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองมากขึ้น เพื่อใช้ Back Up ในการปกป้องภาคเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง อีกทั้งยามที่สถานการณ์โลกเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ เช่น สงครามอิสราเอล-อิหร่าน ก็เป็นปัจจัยให้ผู้คนโยกทุนของตัวเองออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ไปหลบภัยยังทองคำ เพื่อรักษาความมั่งคั่งของตัวเองเอาไว้ ราคาของทองคำตอนนี้จึงมีมูลค่าสูงขึ้น และมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไปแตะอยู่ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ภายในปีหน้า
 
ซึ่งการที่ทองคำมีมูลค่าเพิ่มขึ้นขนาดนี้ ก็เป็นสัญญาณที่แสดงอย่างชัดเจนว่า ความต้องการที่จะครอบครองทองคำนั้นสูงขึ้นมากเลยทีเดียว และแนวโน้มว่าราคาจะทะยานขึ้นไปกว่านี้อีก ก็เป็นการชักชวนให้เราลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยนี้ เพื่อรักษาเม็ดเงินของตัวเองและสร้างโอกาสในการทำกำไรในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ดี แม้ทองคำจะได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน จนเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดก็ตาม แต่ความเสี่ยงต่ำที่ว่า ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่มีเลย เพราะสินทรัพย์ทุกชนิดมีความยึดโยงโดยตรงอยู่กับสภาวะอารมณ์ของตลาด ที่ประกอบไปด้วย ผู้ซื้อ-ผู้ขาย และปัจจัยภายนอกนานัปการที่ส่งผลดีและร้ายต่อสินทรัพย์นั้นๆ ดังเช่น สภาวะฟองสบู่แตก ที่เริ่มแรก เหมือนเหตุการณ์ทุกอย่างจะเป็นใจให้มูลค่าของสินทรัพย์ชนิดหนึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่นานวันเข้าก็ถึงจุดอิ่มตัว จนระเบิดแตกออก หรือราคาของสินทรัพย์รูดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วกับทองคำในปี 1980
 
ทองคำเคยเผชิญวิกฤตฟองสบู่แตกมาแล้ว
 
 
กราฟราคาทองคำนับตั้งแต่ปี 1974 จาก goldprice.org
 
ช่วงเวลาที่ทองคำมีมูลค่าขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการถือครองที่มากขึ้นในสถานการณ์ที่มีความไม่มั่นคงเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต โดยในช่วงปี 1979 เป็นช่วงที่มีการปฏิวัติอิหร่าน มีความไม่สงบทางตะวันออกกลาง จนทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น  ซึ่งในช่วงนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ชื่อว่า “The Great Inflation” หรือเงินเฟ้อครั้งใหญ่ในสหรัฐอยู่แล้ว ก็ยิ่งโหมให้ค่าครองชีพยิ่งพุ่งขึ้นสูง และอำนาจเงินในมือของผู้คนก็ลดลง จนมีความกังวลว่าเงินกำลังเสื่อมค่า เลยเกิดการแห่เข้าไปซื้อทองคำเพื่อรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง จนราคาของทองคำพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าในปีเดียว ซึ่งเกินปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ลงทุนนั้นไปมากจนเริ่มไม่สมเหตุสมผล และในที่สุดฟองสบู่ทองคำก็แตก คนที่ซื้อทองคำในระดับราคาสูงๆ หรือที่ซื้อบนยอดดอย ก็ต้องเผชิญกับการขาดทุนเกือบ 30 ปี เพราะราคานับตั้งแต่ปี 1980 เผชิญช่วงขาลงเป็นระยะเวลา 19 ปี และต้องรอไปจนถึงปี 2007 ถึงจะคืนทุนได้ตามกราฟด้านบน
 
ฉะนั้นแล้ว ในช่วงเวลาที่มีปัจจัยเดียวกันอย่างเหตุการณ์ไม่สงบทางตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน อีกทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังคงตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกับช่วงปี 1980 ก็อาจต้องพิจารณาการลงทุนในทองคำให้ดี ว่าระดับราคาที่เราจะเข้าซื้อนั้น มันอาจเป็นสัญญาณของการขายออกแทนหรือไม่ และควรจัดพอร์ตแบ่งการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสม เพราะสินทรัพย์ที่เสมือนหลุมหลบภัยอย่างทองคำ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นสถานที่กักขังศักยภาพทางการเงินของเราได้เช่นเดียวกัน

LastUpdate 28/04/2567 23:14:16 โดย : Admin
15-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 15, 2024, 8:58 am