การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
เปิด 7 คำถาม ท้าพิสูจน์กลุ่มปลาสวยงามมีเอี่ยวหมอคางดำ


การส่งออก “ปลาหมอคางดำ” เป็น “ปลาสวยงาม” ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงเพื่อหาข้อเท็จจริงอย่างเที่ยงธรรม น่าแปลกที่ NGO กลุ่มหนึ่งตั้งตนตามหาต้นตอการแพร่กระจาย แต่กลับมองข้าม 11 บริษัทส่งออกปลาสวยงามกว่า 300,000 ตัว แล้วหันมุ่งเป้าเอกชนรายใหญ่ที่นำเข้าแค่ลูกปลา 2,000 ตัว เพียงอย่างเดียว จนดูเหมือนมีเงื่อนงำเบื้องหลัง คล้ายๆได้รับ "ใบสั่ง" มา

การกางปีกปกป้อง กลุ่มต้องสงสัยว่าอาจมีเอี่ยวกับปลาหมอคางดำจนออกเกินงาม เห็นได้ชัดเจนจากโพสต์ 7 ข้อที่ล้วนไม่สมเหตุสมผล 

ข้อแรกที่อ้างว่าความสับสนในการเรียกชื่อภาษาไทยของปลาชนิดนี้ เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดความผิดพลาดในเอกสารส่งออก แม้ชื่อวิทยาศาสตร์จะเป็น Sarotherodon melanotheron เหมือนกันก็ตาม ทั้งยังอ้างว่าขนาดกรมประมงยังใช้ชื่อไทยหลายชื่อ อาทิ ปลาในตระกูลปลานิล (2549) ปลาหมอเทศข้างลาย (2553) ปลาหมอสีคางดำ (2560) และ ปลาหมอคางดำ (2567) หากเป็นเช่นนี้ ในเอกสารขอนำเข้าของบริษัทที่ระบุว่า ปลาหมอเทศข้างลาย แสดงว่า บริษัทนั้นไม่ได้นำเข้าปลาหมอคางดำ ใช่หรือไม่?

ข้อที่ 2 อ้างว่า กรมประมงได้ตรวจสอบข้อมูลการส่งออกแล้ว พบว่าเป็นความสับสนและการลงชื่อผิดของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้ง ด้วยความสับสนของชื่อ และความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ถือเป็นสิ่งที่ "ไม่สมเหตุสมผล" เพราะหากเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลชื่อผิดก็น่าจะผิดแค่ไม่กี่ครั้ง แต่นี่ผิดครบทั้ง 11 บริษัท ตลอด 4 ปี และที่สำคัญ ในปี 2558-2559 มี พรก.ประมง 2558 ที่ระบุว่า ผู้ส่งออกต้องแสดงแหล่งที่มาของปลาก่อน คำถามคือ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหรือไม่ ถ้าไม่ก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย ม.157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่แล้ว

ข้อที่ 3 NGO รายเดิมระบุว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลลงลึกรายละเอียดที่ด่านสุวรรณภูมิในปี 2558-2559 แล้วพบว่า ไม่มีการส่งออกใดระบุว่า เป็นปลาหมอคางดำเลย ก็เกิดความสงสัยตามมาว่า NGO นี้มีหน้าที่ใดจึงเข้าถึงข้อมูลลงลึกในด่านสุวรรณภูมิ และในช่วงปีดังกล่าวนั้น ยังไม่มีการบัญญัติชื่อ ปลาหมอคางดำ ก็ไม่น่าจะตรวจพบ แต่ทำไมไม่รายงานการตรวจในปี 2556-2557 มาด้วย เพราะเป็น 2 ปีที่มีการส่งออกมหาศาลใช่หรือไม่? หากผลการสอบออกมาชัดเจนจริงๆ NGO รายนี้จะรับผิดชอบได้หรือไม่? จะตอบสังคมในพฤติกรรมของตนอย่างไร?

เหตุผล ข้อที่ 4 ที่อ้างว่า มีข้อมูลจากวงในราชการว่า การใช้ชื่อ "ปลาหมอสีคางดำ" ซึ่งใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron เพื่อหลบเลี่ยงแสดงหลักฐาน GAP ทำให้ส่งออกได้โดยง่าย ถือเป็นเหตุผลที่น่าตกใจมาก หากเป็นความจริง แสดงว่าที่ผ่านมาอาจมีการส่งออกปลาชนิดใดก็ไม่ทราบในชื่อของปลาหมอสีคางดำ แสดงให้เห็นถึงการควบคุมกำกับของภาครัฐที่ไม่เข้มงวดเพียงพอ จึงปล่อยให้มีช่องโหว่ทำให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดเข้ามาหรือออกไปได้ ที่สำคัญการอ้างเหตุผลนี้ เหมือนกับกล่าวหาว่า 11 บริษัทส่งออกระบุชื่อปลาเช่นนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรฐาน GAP และ NGO รายนี้กำลังยืนยันว่า 11 บริษัท แจ้งชื่อหรือใช้เอกสารเท็จในการส่งออก ซึ่งผิดกฎหมาย  เดือดร้อนถึง 11 ผู้ส่งออกที่ต้องออกมาชึ้แจงรายละเอียดให้สิ้นสงสัย และใช้กฎหมายจัดการผู้กล่าวหาที่ทำให้เสื่อมเสียอย่างเด็ดขาด   

ข้อที่ 5 อ้างว่า ประเทศปลายทางทั้ง 17 ประเทศ มีการกำกับดูแล และทราบว่า ปลาหมอคางดำ เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน จึงยากที่จะอนุญาตนำเข้า ก็น่าสงสัยว่า ประเทศปลายทางน่าจะพิจารณาจากชื่อวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ ดังนั้น จากรายงานการส่งออกที่ระบุว่า เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ถ้าปลายทางไม่รับจริง ก็คงเป็นรายงานไม่ได้ และย่อมเกิดการตีกลับ  แต่เพราะปลายทางมีการตรวจสอบเข้ม เมื่อหน้าตาปลากับชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกัน ก็ยิ่งการันตีได้ทันทีว่านี่คือการส่งออกปลาหมอคางดำแน่นอน 

ข้อที่ 6 อ้างว่า ถ้ามีการส่งออก ก็อยู่ในช่วงปี 2556-2559 แต่ปัญหารุกรานเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 แล้ว ซึ่งต้องมาพิจารณาเอกสารราชการที่ระบุว่า พบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในปี 2560 แต่การส่งออกอยู่ในช่วง 2556-2559 ทั้ง 11 บริษัทต้องตอบให้ได้ว่า ไปเอาปลาพ่อแม่พันธุ์จากไหนมาเพาะเลี้ยง มีการขออนุญาตหรือไม่ และหลังจากมีกฎหมายห้ามเพาะเลี้ยงแล้วปลาเหล่านั้นไปไหน หากบอกว่าไม่ใช่ปลาหมอคางดำ แล้วเหตุใดหลังปี 2560 จึงไม่มียอดการส่งออกอีกเลย

ข้อที่ 7 นักวิชาการ 2 ท่านที่ถูกแอบอ้างชื่อว่า ไม่เคยเห็นปลาตัวนี้ในสารบบปลาสวยงาม ไม่แน่ใจว่าทั้งสองท่านนั้น จะกล้าการันตีหรือไม่ว่า 11 บ.ส่งออกปลาหมอคางดำ ไม่เคยเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้แน่นอน

ตลาดปลาสวยงาม มีขบวนการลักลอบนำเข้าลำเลียงปลาสวยงามหายากและมีมูลค่าจากต่างประเทศเข้ามาอยู่เสมอ โดยผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง การซ่อนในกระเป๋าเดินทาง หรือใช้กล่องโฟม รวมไปถึงการใช้เอกสารนำเข้าเท็จ ซึ่งหากมีการใช้ชื่อ ปลาหมอสีคางดำ เพื่อให้ส่งออกได้ง่ายขึ้นแล้ว ก็มีโอกาสที่จะใช้ชื่อ ปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง นำเข้าปลาหมอคางดำมาเพาะเลี้ยง ป้อนตลาดปลาสวยงาม ซึ่งอาจไม่ใช่ตลาดในประเทศ แต่เป็นการป้อนตลาดส่งออก สะท้อนจากยอดการส่งออกว่า 300,000 ตัว ในระยะเวลา 4 ปี เพราะปลาตัวนี้ติดอันดับ Top Ten ปลายอดฮิตในกลุ่มคนเลี้ยงปลาเป็นงานอดิเรก และติดอันดับ 13 ของ Exotic Freshwater Fish ที่ทางการสหรัฐระบุ

เหตุผลทั้ง 7 ข้อของ NGO ที่พยายามบอกว่า ปลาสวยงามไม่ใช่สาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำ ในทางกลับกัน มันล้วนเป็นเหตุผลที่ตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องสืบค้นเรื่องราวของปลาสวยงามอย่างจริงจัง ก่อนที่จะหลงประเด็นหลงทิศทางไปตามเป้าประสงค์ของคนบางกลุ่ม  ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องช่วยกันพิสูจน์ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ให้สิ้นสงสัย ควบคู่ไปกับพยายามจัดการควบคุมปัญหาโดยเร็วที่สุด รวมทั้งวางแผนป้องกันปัญหาลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ส.ค. 2567 เวลา : 21:42:33
17-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 17, 2025, 7:38 pm