ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เผยปี 2568 เป็นโอกาสของธุรกิจประกันวินาศภัย คาดเติบโตขึ้น 0.5-2.5% ด้านบริษัทคุมสัดส่วนประกันรถยนต์ไม่เกิน 30% ของพอร์ต เนื่องจากความเสี่ยงขาดทุนในประกันรถ EV และรถซ่อมห้าง แต่ยังมองเบี้ยประกันรถปีนี้เติบโตได้ 5% ด้านการลงทุน ตั้งงบ 1,000 ล้านบาท ร่วมทุนพัฒนา Infrastructure Technology กับบริษัทข้ามชาติ คาดปิดดีลกลางปี 2568 นี้
ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH เปิดเผยถึงโอกาสของธุรกิจประกันในปี 2568 ที่ทางด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ประเมินว่า อุตสาหกรรมประกันภัยจะเติบโตมากกว่าปีที่แล้วในกรอบ 0.5-2.5% เนื่องจากการขยายตัวของประกันภัยรถยนต์ปี 2567 หดตัวลงไปเยอะมาก อีกทั้งยังไม่มีการลงทุนของภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่ในปีนี้ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะลงทุนโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เริ่มมีการฟื้นตัว ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่งต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งก็เชื่อมโยงกับการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และนำไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการปรับปรุงและเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมา ฉะนั้นปัจจัยเหล่านี้ทำให้เชื่อว่าเบี้ยประกันภัยในปีนี้จะมีโอกาสมากกว่าปีที่แล้ว
โดยในส่วนของทิพยประกันภัย ได้ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมของปีนี้เติบโต 3 เท่าของภาพรวมการเติบโตในอุตสาหกรรมประกันภัย โดยผลิตภัณฑ์ประกันภัยชนิด Non-Motor จะเป็นตัวชูโรงของบริษัท ส่วนประกันภัยรถยนต์ บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างการรับประกันภัย โดยคุมให้ประกันภัยรถยนต์อยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 30% ของพอร์ตทั้งหมด เนื่องจากประกันภัยรถยนต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะประกันรถยนต์ EV และรถซ่อมห้าง
“พิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรวมในปี 2567 ของบริษัท จะเห็นว่ามีการย่อตัวลงจากการเพิ่มการเฝ้าระวังเรื่องของประกันรถยนต์ EV แม้ว่าช่วงก่อนหน้านี้ ทิพยประกันภัยจะเป็นผู้นำของการประกันภัยรถยนต์ EV แต่ว่าสุดท้ายบริษัทก็ตัดสินใจจะชะลอตัวลงไป เพราะโครงสร้างของเบี้ยประเภทนี้ในตลาดยังอยู่ในสภาวะขาดทุน ขณะเดียวกันภัยรถซ่อมห้าง ก็มีอัตราค่าสินไหมทดแทน Loss Ratio สูงถึง 110-115% อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายรวมถึง 130% จากสองปัจจัยนี้ ทำให้เบี้ยประกันของทิพยประกันภัยโตต่ำลงไปประมาณ 4-6% แต่อย่างไรก็ตาม การย่อตัวนี้ก็เพื่อที่จะปรับโครงสร้างการรับประกันภัย ที่ปรับสัดส่วนพอร์ตประกันรถยนต์อยู่ 23% ในปี 2568 นี้ ซึ่งเป็นระดับที่ระมัดระวังไม่ให้ Bottom Line มีปัญหา และเชื่อว่าเบี้ยประกันภัยของรถยนต์นั้นก็ยังมีอีกหลาย Areas ที่สามารถจะขยายตัวได้ บริษัทจึงได้มีการตั้งเป้าของเบี้ยประกันภัยรถยนต์โต 5%” ดร.สมพร กล่าว
ประกันรถยนต์ยังคงเติบโต แต่ต้องระวังรับประกัน EV
นอกจากนี้ ดร.สมพร ยังกล่าวถึงทิศทางของรถยนต์ EV ต่อว่า ช่วงปี 2567 รถยนต์ EV มีการเติบโตขึ้นมาก สวนทางกับรถยนต์สันดาปที่หดตัวลงไป แต่จุดที่น่าสังเกตคือ ในช่วงปลายปีที่แล้ว การเติบโตของรถยนต์ EV จากที่เคยเติบโตเยอะมากก็เริ่มที่จะมีความลังเลเกิดขึ้น โดยคนเริ่มที่จะหันไปใช้รถยนต์ประเภทไฮบริดเพิ่มขึ้นแทน พอมาถึงปี 2568 การเติบโตของรถยนต์ EV เลยดูเหมือนจะชะลอตัวลง แต่ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์ไฟฟ้ากลับมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น บริษัทเลยประเมินว่าการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ยังคงมีศักยภาพอยู่ ขณะเดียวกันรถยนต์ประเภทอื่น ทั้งรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์สันดาป ก็ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เลยเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์ต่อจากนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปได้
แต่ข้อควรระวังคือ ราคาของรถยนต์ EV มีการปรับตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยบางรุ่นหลังซื้อไปในราคาประมาณล้านบาท ผ่านไปไม่กี่เดือนราคากลับปรับตัวลงไปหลักแสนก็มี ตรงนี้เป็นความเสี่ยงของอุตสาหกรรมประกันภัย ที่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ต้องมีการเปลี่ยนทั้งคัน เนื่องด้วยความที่เป็นรถชนิดใหม่ทำให้อู่ซ่อมรถส่วนใหญ่ขาดอะไหล่สำรอง จึงต้องไปพึ่งประกันภัยรถยนต์ซ่อมห้าง ที่มีค่าซ่อมโดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาซ่อมรถทั่วไปอย่างมาก
TIPH ตั้งงบลงทุน 1,000 ล้าน ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี
สำหรับแนวทางการลงทุนของ ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ทางดร.สมพร เปิดเผยว่า บริษัทมีการลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ลงทุนในบริษัทประกันภัย เช่น บริษัทอินชัวร์เวิร์ส ลงทุนจัดตั้งบริษัททิพยประกันภัยที่ลาวและกัมพูชา 2.ลงทุนบริษัทที่สนับสนุนธุรกิจประกันภัย เช่น บริษัทเซอร์เวย์ บริษัทโบรกเกอร์ และ 3.ลงทุนด้านเทคโนโลยี ที่ล่าสุดได้ร่วมทุนกับบริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนการลงทุน TIPH 51% BE8 49% ก่อตั้ง “HoriXonT8” ที่จะสร้างแพลตฟอร์มและซอฟแวร์ InsurTech ที่ยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยให้เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
“แนวคิดในการลงทุนด้านเทคโนโลยีนั้น เรามองว่าเทคโนโลยีมี Life Cycle ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อตอบสนองลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น แต่บริษัทไม่ได้มุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนทั้งระบบ แต่จะใช้รูปแบบเทคโนโลยีที่เรียกว่า Middleware โดยจะยังใช้ระบบเก่าเป็นเสมือนโครงข่ายหลัก และเพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่บน Ecosystem ใหม่ ซึ่งก็คือการพัฒนาระบบแอพลิเคชันที่เป็น Peripheral ของ HoriXonT8 หรือ T8 จากนั้นถึงจะเอามา Plug in เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เพราะเรายังไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะมีการพัฒนาไปเร็วกว่านี้มากแค่ไหน หากเราไปเปลี่ยนโครงข่ายเทคโนโลยีหลักของบริษัท หรือ Core Insurance Plateform เลย อาจจะสูญเสียเงินลงทุนจำนวนสูงถึง 700-1,000 ล้านบาทโดยใช่เหตุ ดังนั้นจึงประกันเงินตรงนี้เอาไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดดีกว่า อย่างการสร้าง Insurance Ecosystem ของ T8 ที่ร่วมทุนในงบ 50 ล้านบาท ก็จะเอื้อให้บริษัทประกันภัยขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมากในประเทศไทยที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในระบบเทคโนโลยี สามารถเข้ามาใช้เสมือนกับเป็นระบบคลาวน์ เช่นเชื่อมต่อระบบการขาย บริหารจัดการตัวแทนนายหน้า หรือระบบจัดการด้านสินไหม ที่จะมีค่าใช้จ่ายเป็น Transaction ซึ่งสามารถคุมต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดได้” ดร.สมพร กล่าว
โดยการร่วมทุนจัดตั้ง T8 ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนการลงทุนปี 2567 ที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2568 ดร.สมพร เปิดเผยว่า ทางทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ก็ยังมีการตั้งงบไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทอีกเช่นเคย โดยมีแผนที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ร่วมกับบริษัทข้ามชาติจำนวน 1 ราย ที่จะร่วมพัฒนา Infrastructure Technology โดยคาดว่าจะปิดดีลได้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้
ข่าวเด่น