
หลังจากที่สหรัฐได้ประกาศมาตรการขึ้นภาษี Reciprocal Tariffs กับบรรดาประเทศคู่ค้าที่เกินดุลกับทางสหรัฐ รวมถึงจีนในอัตราสูงถึง 34% ไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ที่ผ่านมานี้ ล่าสุด จีนก็ได้มีการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐกลับไป ด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐทุกชนิดเพิ่มในอัตรา 34% เช่นเดียวกัน นับเป็นการเปิดฉากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอย่างเต็มรูปแบบ ที่สร้างความตึงเครียดเป็นวงกว้างถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในเร็ววันนี้
การที่ 2 ประเทศมหาอำนาจหันมาห่ำหั่นกัน ประเทศข้างเคียงอื่น ๆ ที่มีความยึดโยงกันทั้งทางด้านการค้าและด้านตลาดเงินทุน ก็ย่อมได้รับแรงกระแทกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการตอบกลับของจีนที่รีดภาษีสินค้าจากสหรัฐเพิ่มในอัตราเดียวกันที่ 34% จากภาษีเดิม 20% รวมแล้ว 54% และนอกจากมาตรการภาษีแล้ว จีนยังยกระดับความรุนแรงด้วยการประกาศแบนบริษัทสัญชาติอเมริกัน 11 แห่งขึ้นเป็นบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งถือว่าเป็นการห้ามบริษัทเหล่านี้ดำเนินธุรกิจในจีนหรือร่วมมือกับบริษัทจีนในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ จีนยังยกระดับความรุนแรงกับทางสหรัฐด้วยการจำกัดการส่งออกแร่หายาก 7 ประเภท ได้แก่ ซาแมเรียม แกโดลิเนียม เทอร์เบียม ดิสโพรเซียม ลูทีเชียม สแกนเดียม และอิตเทรียม โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ชิปคอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่รถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงอาวุธไฮเทค และอุตสาหกรรมอวกาศ นับเป็นการกดดันห่วงโซ่อุปทานของโลก และมุ่งโจมตีเชิงกลยุทธ์ต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่พึ่งพาแร่เหล่านี้เช่นกัน (เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายากประมาณ 90% ของโลก)
ผลกระทบจากการปะทะครั้งนี้ ได้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐเกิดความผันผวน และส่งผลลุกลามต่อตลาดการลงทุนโดยรวมของโลก รวมถึงสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ เช่น ตลาดคริปโตก็โดนกดดันไปตาม ๆ กัน ด้วยอารมณ์ของตลาดที่ทำให้ Volume ของเงินทุนหยุดชะงัก และยังเกิดความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยมีชนวนเริ่มจากทางสหรัฐเสียเอง เพราะสินค้าที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่บริโภคเป็นสินค้านำเข้าซึ่งจะมีราคาแพงขึ้นจากต้นทุนทางภาษีนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังกระทบกับห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก ที่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ มีการกระจายไปในหลายประเทศ (เช่น เรื่องของการจำกัดส่งออกแร่)
แน่นอนว่าถ้าหากสหรัฐยังคงยึดมาตรการขึ้นภาษีนี้ต่อไปจริง ๆ ผนวกเข้ากับจีนที่สู้ไม่ถอยและไม่ยอมเสียเปรียบใครง่าย ๆ สงครามการค้าดังกล่าวก็คงจะยิ่งทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจลุกลามไปยังทั่วโลก โดยทาง JPMorgan ได้ประเมินความเสี่ยงว่า อาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยถึง 60%
แม้ความตึงเครียดนี้จะปะทุขึ้นอย่างรุนแรง แต่ทาง โดนัลด์ ทรัมป์ กลับแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตในระยะยาว เพราะมาตรการทางภาษีจะเป็นการสร้างสมดุลทางการค้ากับต่างชาติ และผลักดันให้อเมริกากลับมาเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่อีกครั้ง หรือแนวคิด “Made in USA” ที่ทรัมป์ยึดถือในนโยบายของตัวเองมาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงไม่มีใครสามารถการันตีท่าทีของทรัมป์ได้ว่าเจตนาที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ เพราะในแง่ของการเมืองแล้ว ทั้งสหรัฐและจีนก็ยังคงมีพื้นที่สำหรับการทำข้อตกลงบางอย่างได้ รวมถึงการแสดงออกทางภาษีของทรัมป์ที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาด ก็อาจจะเป็นการวางหมากกดดันให้ธนาคารสหรัฐ หรือ Fed เร่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นได้
ข่าวเด่น