การค้า-อุตสาหกรรม
ปิดไตรมาสแรกปี 68 ตัวเลขตั้งใหม่และเลิกยังทรงตัว ยังต้องจับตาทิศทางธุรกิจไทย ไทยยังเนื้อหอมมีต่างชาติขอลงทุน 272 ราย ทุ่มเงินลงทุนกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท ด้านธุรกิจการขนส่งทางอากาศ เป็นช่วงฟ้าเปิดให้นักลงทุนสร้างโอกาสทางธุรกิจ



          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยธุรกิจตั้งใหม่เดือนมี.ค.68 มี 7,432 ราย และไตรมาสแรกปี 68 มี 23,823 ราย  ยังอยู่ในภาวะทรงตัวที่นักลงทุนยังรอดูท่าทีสถานการณ์การค้าโลก ที่ยังมีทิศทางไม่แน่ชัด ชะลอความเสี่ยงเอาไว้ก่อน ในทางกลับกันนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไตรมาสแรกปี 68 มีการลงทุนแล้ว 272 ราย เงินทุน 47,033 ล้านบาท มีนักลงทุนจาก 5 สัญชาติครองแชมป์ลงทุนในไทยคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง สำหรับธุรกิจที่น่าจับตามองคือ ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ คืนชีพจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จบลง การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และตลาด e-Commerce ที่คึกคัก สร้างผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน โดยมีภาครัฐพร้อมเสริมปีกให้แข็งแกร่งปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค และติดอันดับ 9 ตลาดการบินโลกภายในปี 2576

 
        นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2568 พบว่า มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,432 ราย ลดลง 301 ราย (-3.89%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (7,733 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 38,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,489 ล้านบาท (74.45%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (22,146 ล้านบาท) ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด  3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 573 ราย มูลค่า ทุน 1,351 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 523 ราย ทุน 2,110 ล้านบาท 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 298 ราย ทุน 619 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.71%, 7.04% และ 4.01% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2568 ตามลำดับ

          ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 18,979 ล้านบาท ได้แก่ 1) บมจ.ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุนจดทะเบียน 11,024 ล้านบาท  2) บมจ.ฮ็อป อินน์ โฮเต็ล จำกัด (มหาชน) ทุนจดทะเบียน 3,575 ล้านบาท 3) บจ.คอมเปค เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท และบจ.เจ็ม-เยียร์ อินดัสเทรียล จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,380 ล้านบาท

          อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การจัดตั้งใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 23,823 ราย ลดลง 1,180 ราย (-4.72%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (25,003 ราย) ทุนจดทะเบียน 79,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,980 ล้านบาท (17.63 %) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (67,941 ล้านบาท) ด้านธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,892 ราย ทุนจดทะเบียน 4,113 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,608 ราย ทุนจดทะเบียน 6,266 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 973 ราย ทุนจดทะเบียน 1,960 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.94%, 6.75% และ 4.09% จากจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2568 ตามลำดับ

 
            ในไตรมาสแรกของปี 68 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวนรวมทั้งสิ้น 5 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 20,979 ล้านบาท ประกอบไปด้วย บจ.อีลิท เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท และนิติบุคคลจำนวน 4 ราย ในเดือนมีนาคม 2568 ที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท ดังที่กล่าวไปข้างต้น

          การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 889 ราย ลดลง 22 ราย (-2.41%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (911 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 4,842 ล้านบาท ลดลง 741 ล้านบาท (-13.27%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (5,582 ล้านบาท) สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 80 ราย ทุน 167 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 50 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 208 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 37 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 67 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9%, 5.62% และ 4.16% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนมีนาคม 2568 ตามลำดับ

ในเดือนมีนาคม 2568 มีนิติบุคคลเลิกประกอบกิจการที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท คือ บจ.คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,560 ล้านบาท

          การจดทะเบียนเลิกไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 298 ราย (10.61%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (2,809 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 11,859 ล้านบาท ลดลง 85 ล้านบาท (-0.71%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 (11,944 ล้านบาท) โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 307 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 542 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์    137 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 496 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 129 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 341 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.88%, 4.41% และ 4.15% จากจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2568 ตามลำดับ

          ช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีนิติบุคคลเลิกประกอบกิจการที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย รวมทุนจดทะเบียนเลิกทั้งสิ้น 4,128 ล้านบาท ได้แก่ บจ.ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,568 ล้านบาท และบจ.คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,560 ล้านบาท  

          ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,988,655 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.49 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 942,367 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.24 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัด 743,784 ราย หรือ 78.93% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.44 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 197,094 ราย หรือ 20.91% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.43 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด 1,489 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.37 ล้านล้านบาท สำหรับนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจบริการเป็นประเภทธุรกิจที่มีสัดส่วนการจดทะเบียนมากที่สุดมีจำนวน 509,271 ราย ทุนจดทะเบียน 12.81 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก 309,015 ราย ทุน 2.56 ล้านล้านบาท และธุรกิจผลิต 124,081 ราย ทุน 6.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.04%, 32.79% และ 13.17% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ

          หากวิเคราะห์ตัวเลขการจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2568 ที่พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งมีจำนวนที่ลดลงเล็กน้อย อาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางจิตวิทยาที่นักลงทุนรอดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs) ที่จะชี้ทิศทางของการค้าและเศรษฐกิจโลกประกอบกับกังวลว่าถ้าจัดตั้งธุรกิจในช่วงนี้อาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ รวมไปถึงปัจจัยความเข้มงวดในการปราบปรามธุรกิจนอมินีหรือธุรกิจทุนสีเทาของกระทรวงพาณิชย์ที่จะทำให้ธุรกิจต้องมีความรัดกุมมากขึ้นในการเตรียมความพร้อมก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนการจัดตั้งธุรกิจต่อการจดเลิกในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังคงอยู่ที่ 7:1 หรือตั้ง 7 ราย เลิก 1 ราย

การลงทุนของชาวต่างชาติไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568)

          การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 272 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 205 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 47,033 ล้านบาท โดยการอนุญาตฯ ในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจำนวน 94 ราย (53%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,131 ล้านบาท (31%) อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

          1. ญี่ปุ่น 57 ราย คิดเป็น 21% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจ

จัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

            2. สหรัฐอเมริกา 35 ราย คิดเป็น 13% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต

           3. จีน 34 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone) ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

            4. สิงคโปร์ 31 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูล สำหรับโครงการรถไฟฟ้า ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

          5. ฮ่องกง 22 ราย คิดเป็น 8% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า

            สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 88 ราย คิดเป็น 32% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 จำนวน 32 ราย (57%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 24,234 ล้านบาท    คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 27 ราย ลงทุน 9,295 ล้านบาท จีน 22 ราย  ลงทุน 3,685 ล้านบาท สิงคโปร์ 9 ราย ลงทุน 2,194 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 30 ราย ลงทุน 9,060 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าแม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์  ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง แก้วเก็บความร้อน เป็นต้น

 
ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ เปิดน่านฟ้าไทยรับโอกาสทางธุรกิจ

          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจในเดือนมีนาคม 2568 พบว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-2567) ธุรกิจขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มขยายตัวด้านรายได้และกำไร แบ่งเป็น การขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งการเติบโตเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การฟื้นตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ภายหลังจากช่วงการชะลอตัวของสถานการณ์โควิด-19 การยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และตลาด e-Commerce ที่คึกคัก โดยเฉพาะในประเทศไทยปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางทางอากาศ 141 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 และมีเที่ยวบิน 886,438 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2566 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 22%

          สำหรับนิติบุคคลธุรกิจการขนส่งทางอากาศในประเทศไทย มีจำนวน 141 ราย มูลค่าการลงทุน 53,499 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 115 ราย คิดเป็น 81.56% ทุนจดทะเบียน 3,977 ล้านบาทธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 10 ราย คิดเป็น 7.09% ทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 16 ราย คิดเป็น 11.35% ทุนจดทะเบียน 49,417 ล้านบาท

          ธุรกิจการขนส่งทางอากาศแม้จะมีจำนวนธุรกิจในตลาดนี้ไม่มากนัก เพราะเป็นธุรกิจเฉพาะที่ต้องใช้เงินทุนดำเนินธุรกิจที่สูง ประกอบกับมีมาตรฐานการบินโลกที่เข้ามาควบคุมธุรกิจให้มีคุณภาพ แต่ธุรกิจทั้ง 141 รายที่อยู่ในตลาดก็สามารถสร้างผลประกอบการได้อย่างมาก โดยในปี 2566 มีผลประกอบการอยู่ที่ 371,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 (245,460 ล้านบาท) คิดเป็น 51% และสร้างกำไรในปี 2566 จำนวน 73,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 (25,836 ล้านบาท) คิดเป็น 185% ด้านการลงทุนของชาวต่างชาติ พบว่า 3 อันดับแรกของนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ได้แก่ จีน ลงทุน 215 ล้านบาท สวิส 206 ล้านบาท และมาเลเซีย 205 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนในภาพรวมมีจำนวน 7,146 ล้านบาท คิดเป็น 13.36% ของการลงทุนทั้งหมดในธุรกิจนี้

 
          รัฐบาลและภาคเอกชนได้สร้างความร่วมมือกันพร้อมมองเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนธุรกิจนี้ให้เติบโตทั้งการรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจสายการบินของไทย การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการจัดการธุรกิจการบิน เพื่อมุ่งเป้าไปเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค และติดอันดับ 9 ของตลาดการบินโลกภายในปี 2576” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 เม.ย. 2568 เวลา : 14:12:46
03-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2025, 6:20 am