 (1).jpg)
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางจากสถานการณ์ ราคายาง หวังสร้างราคายางให้กลับสู่เสถียรภาพ ผนึกกำลังเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ ทั่วประเทศเลื่อน เปิดกรีดยางออกไป 1 เดือน คาดผลผลิตยางหายจากตลาดไม่ต่ำกว่า 2 แสนตัน พร้อมหนุนสินเชื่อระยะสั้น แก่สถาบันเกษตรกรฯ ปลอดดอกเบี้ย 4 เดือน สร้างแหล่งเงินทุนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตบำรุงสวนยาง
.jpg)
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางพาราที่อาจส่งผลถึงรายได้ของพี่น้องชาวสวนยาง จึงเร่งหารือร่วมกับ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางโดยมุ่งรักษาเสถียรภาพราคายาง แก้ปัญหาราคายางที่ปรับตัวลงจากการประกาศนโยบายด้านภาษีของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs) ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนบางกลุ่ม โดยมาตรการหนึ่งที่ขณะนี้ กยท. ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว คือ มาตรการเลื่อนฤดูกาลเปิดกรีดยางออกไป 1 เดือน จากเดิมที่เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มเปิดกรีดในเดือนพฤษภาคม 2568 ให้เริ่มทำการเปิดกรีดในเดือนมิถุนายน 2568 แทน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลผลิตยางหายจากระบบตลาดโลกไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ซึ่งการลดลงของอุปทานนี้จะสร้างแรงกดดันต่อสมดุลของตลาด
 (1).jpg)
“การชะลอเปิดกรีด 1 เดือน ไม่ได้เป็นมาตรการโต้ตอบ แต่เป็นการปกป้องตัวเอง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบยางพาราอย่างยั่งยืน เชื่อมั่นว่าการเลื่อนเปิดกรีดยางออกไป 1 เดือน จะทำให้ภาพรวมของยางพาราทั้งระบบไม่เกิดความเสียหาย เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ยางทั่วโลกมีมากกว่าปริมาณผลผลิตยางประมาณ 2% และมั่นใจว่าหากเก็บเกี่ยวผลผลิตยางในเดือนหน้าจะทำให้เกษตรกรได้รับราคายางที่สูงกว่าระดับราคาในช่วงเดือนนี้อย่างแน่นอน” ดร.เพิก กล่าว
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงระหว่างเลื่อนการเปิดกรีด เกษตรกรสามารถใช้โอกาสนี้ในการดูแลรักษาและบำรุงต้นยางให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตยางเมื่อถึงเวลาเปิดกรีด โดย กยท. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือ แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยบำรุง) โดยสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3)
แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผ่านโครงการสินเชื่อระยะสั้น สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตยางพารา ซึ่งสถาบันเกษตรกรสามารถยื่นสิทธิ์ขอกู้ได้สถาบันละ 1 สัญญา วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อสัญญา อัตราดอกเบี้ยร้อยละศูนย์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป) ซึ่งจะช่วยสถาบันเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อจัดหาปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาถูก จำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ เป็นการช่วยลดต้นทุน
เพิ่มปริมาณผลผลิตยาง และยกระดับรายได้ให้เกษตรกรฯ ได้ในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับศักยภาพของเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กยท. ยังมีมาตรการและแนวทางอื่นๆ ที่เตรียมดำเนินการ ในระยะต่อไป ได้แก่ การดำเนินโครงการชะลอการขายยาง ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว การดำเนินการเจรจากับผู้ประกอบการจีน ขับเคลื่อนเรื่องการลดภาษีนำเข้ายางจากไทย ภายใต้ความร่วมมือสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง กับ กยท. ซึ่งเป็นการส่งเสริมการส่งออก ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ในการบำรุงรักษาสวนยาง เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตด้วยการใส่ปุ๋ยบำรุง น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ ตลอดจนการนำนวัตกรรมฮอร์โมนเอทธิลีนมาใช้ในสวนยาง เป็นต้น
ข่าวเด่น