การค้า-อุตสาหกรรม
สศก. ติดตามโครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้าน สู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง


นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีเป้าหมาย 878 หมู่บ้าน ใน 76 จังหวัด และสนับสนุนให้อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (เกษตรมูลค่าสูง) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรระดับหมู่บ้านโดยปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินโครงการฯ รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) จากระบบประเมินผลและติดตามโครงการเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในภาพรวมโครงการมีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 52 โดยดำเนินกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ ทบทวนและจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้านจำนวน 343 แผน คิดเป็นร้อยละ 39 ของเป้าหมาย 878 แผน และคัดเลือกอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (เกษตรมูลค่าสูง) จำนวน 566 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 39 ของเป้าหมาย 878 หมู่บ้าน

 
นอกจากนี้ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดพิจิตรเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยติดตามผลลัพธ์ของกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนงานโครงการด้านการเกษตร เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัย จังหวัดลำพูน เกษตรกร 20 ราย (2) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จังหวัดลำพูน เกษตรกร 12 ราย (3) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ จังหวัดพิจิตร เกษตรกร 15 ราย และ (4) วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จังหวัดลำพูน เกษตรกร 34 ราย พบว่า สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามแผน เช่น ขยายพื้นที่ปลูกผักพร้อมสร้างสถานที่/โรงเรือนสำหรับรวบรวมผลผลิตและบรรจุผักที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจัดทำโครงการเลี้ยงปลาในร่องสวน โดยจัดหาพันธุ์สัตว์น้ำสนับสนุนแก่เกษตรกรในกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ แปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ น้ำลำไยผสมไฟเบอร์รสน้ำผึ้งมะนาวพร้อมจ้างเหมาออกแบบบรรจุภัณฑ์ และ จัดซื้อเครื่องกลั่นสมุนไพรเพื่อแปรรูปเปลือกส้มโอพันธุ์ท่าข่อยเป็นน้ำมันหอมระเหย รวมถึงมีแนวทางแปรรูปเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในระยะต่อไป

 
 
ด้านรายได้ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัย พบว่า ปี 2567 ทางกลุ่มมีรายได้รวม 5,998,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้ 5,814,446 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกผัก อีกทั้งการมีโรงเรือนสำหรับรวบรวมและบรรจุที่ได้มาตรฐาน ทำให้ผักปลอดภัยเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้กลุ่มมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป ได้แก่ น้ำลำไยผสมไฟเบอร์รสน้ำผึ้งมะนาว จำนวน 149,500 บาท และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ มีการแปรรูปเปลือกส้มโอเป็นน้ำมันหอมระเหยบรรจุขวด พร้อมมีบริการจัดชุดของขวัญ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 80,000 บาท สำหรับวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกร เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร รวมถึงการแปรรูปและการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพร เป็นต้น
 

 
สำหรับความพึงพอใจ พบว่า กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการสนับสนุนงบประมาณมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้าน เนื่องจากทำให้กลุ่มมีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรตามความต้องการของชุมชนและมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดด้านการจัดทำแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าเพื่อเสนอขอกู้เงินกับแหล่งเงินกู้ต่างๆ ซึ่งควรอบรมให้ความรู้ถึงประโยชน์หากเกษตรกรดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจเกษตรรายสินค้าต่อไป 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 พ.ค. 2568 เวลา : 17:11:38
02-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2025, 7:46 pm