การค้า-อุตสาหกรรม
กรมสรรพากรร่วมมือกับ บก.ปอศ. บุกจับบริษัทที่ออกและใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท



 
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 กรมสรรพากร ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกและใช้ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 14 แห่ง มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น ได้ยึดเอกสารใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย และจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ณ สถานที่ตรวจค้นในความผิดฐาน “ร่วมกันมีเจตนาออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออก” อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับพฤติการณ์ สืบเนื่องมาจากการตรวจสอบของกรมสรรพากร พบว่า กลุ่มผู้กระทำความผิดมีการออกใบกำกับภาษีระหว่างกันในกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างยอดขายและยอดซื้อโดยไม่ได้มีการประกอบการจริง และจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นเพื่อประกอบกิจการส่งออกและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ได้มีการซื้อขายสินค้าระหว่างกันจริง โดยกรมสรรพากร ร่วมกับ บก.ปอศ. จัดแถลงข่าวความร่วมมือดังกล่าว ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ณ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)

 
ทั้งนี้ การปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการบูรณาการกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จำนวนรวมกว่า 127 นาย เปิดปฏิบัติการ “ปิดเกมส์กลโกงภาษี” หรือ “Anti Tax Fraud Operation” เข้าจับกุมกลุ่มเครือข่ายที่ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าว โดยได้เข้าดำเนินการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา จำนวน 10 หมาย (พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 8 หมาย/พื้นที่ จ.เชียงใหม่ 2 หมาย) และตรวจค้นเพื่อหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามหมายค้นอีกจำนวน 14 หมาย (พื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 11 จุด/พื้นที่ จ.เชียงใหม่ 2 จุด/พื้นที่ กทม. 1 จุด) โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นทั้ง 14 จุด ในเวลาพร้อมเพรียงกันทุกจุด”

 
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “จากการสืบสวน สอบสวนเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. พบว่า กลุ่มผู้กระทำความผิดมีความสัมพันธ์กันทั้งในลักษณะเครือญาติ เพื่อน นายจ้าง และลูกจ้าง มีการแบ่งหน้าที่กันทำในลักษณะขบวนการ เพื่อสร้างภาพให้ดูเสมือนว่ามีการประกอบการกิจการจริง จากการตรวจค้นทั้ง 14 แห่ง พบใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวนมาก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและสร้างความเสียหายให้แก่รัฐเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่ออกและใช้ใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าระหว่างกันจริงต้องรับผิดทางแพ่งและมีโทษทางอาญา กรณีการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีมีสิทธิที่จะออกตามมาตรา ๘๖/๑๓ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี เป็นความผิดอาญาตามมาตรา ๙๐/๔ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือน ถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท”

LastUpdate 30/06/2568 20:34:22 โดย : Admin
02-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 2, 2025, 1:18 pm