นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จับตามองสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ภายหลังวันนี้ (1 ก.ค.68) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 2 ให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา กรณีปมคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเชื่อว่ากระทบต่อภาพความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของความต่อเนื่องของนโยบาย รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิดต่อไปว่าจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไร เพราะขณะนี้ประเทศไทยประสบทั้งปัจจัยลบในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศที่กระทบต่อเนื่องมายังภาคการส่งออกที่ไม่เติบโต
ด้าน นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวเสริมว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ คาดจะเติบโตเพียง 1.5% ซึ่งยังไม่นับรวมปัจจัยการเมืองล่าสุดวันนี้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและกระทบกับเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจไทยปีนี้ลุ้นได้ดีสุดเพียงแสงสลัวที่ปลายอุโมงค์ เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มจะหดตัว 0% หรือไม่มีการเติบโต แม้ไตรมาสแรกปีนี้จะเติบโต เนื่องจากมีการเร่งส่งออกจากความคาดหวังจะถูกกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐ”นางสาวรุ่ง กล่าว
.jpg)
นางสาวรุ่ง กล่าวต่อไปว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายอย่างมากในหลายปัจจัยทั้งปัจจัยภายนอกประเทศและปัจจัยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่หดตัวจากนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ความไม่แน่นอนทางการค้า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และผลต่อต้นทุนพลังงาน การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการทะลักของสินค้าจากจีน รวมถึงการท่องเที่ยวที่เคยเป็นรายได้หลักของประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ไทยสูญเสียเสน่ห์จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศ ทั้งหนี้ครัวเรือนที่สูง และไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ขณะนี้ในสายตาต่างชาติมองไทยว่า เศรษฐกิจไทยไม่โตหรือไม่มีการเติบโต ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ไม่จูงใจให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว จะมีก็เพียงตราสารหนี้ระยะสั้นที่เข้าเร็วออกเร็ว
.jpg)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยามองว่า ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนสูง ทั้งปัจจัยจากค่าเงินดอลลาร์และปัจจัยในประเทศเอง โดยไตรมาส 3 ปีนี้ อาจจะอ่อนค่าลงบ้าง ซึ่งอยู่ในช่วงพักฐาน ก่อนที่ไตรมาส 4 จะแข็งค่าขึ้นในระดับ 31.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ บนสมมติฐานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และปัจจัยลบต่างๆ ของเงินดอลลาร์ในตลาดโลกที่ยังดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทเทียบดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่ถ้าเทียบเงินสกุลหลักอื่น เช่น เงินเยนและเงินยูโร เงินบาทไทยจะอ่อนค่าลง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากระดับ 1.75% ในปัจจุบัน เพื่อประคองเศรษฐกิจท่ามกลางการเผชิญหลากหลายความเสี่ยงด้านขาลง
นาวสาวรุ่ง กล่าวว่า แม้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะมองกรณีเลวร้ายสุด GDP เติบโตแค่ 1.5% จากสมมูติฐานสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้ไทยที่ 36% หรือไทยเผชิญกำแพงภาษีสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งทำให้ส่งออกไม่โต และตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 35.5 ล้านคน แต่หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าแค่ 10% กับประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งไทย และเรียกเก็บ 30% กับ จีน ขณะที่จีนเก็บภาษีนำเข้า 10% กับสหรัฐ คาดว่า GDP ของไทย อาจมาอยู่ที่ระดับ 2.1% บนสมมุติฐานตัวเลขส่งออกโต 2% นำเข้าเพิ่มขึ้น 12.1% ดุลบัญขีเดินสะพัด 11.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 36.5 ล้านคน เงินเฟ้อทั่วไป 0.6% และดอกเบี้ยนโยบายของไทย 1.25%
นางสาวรุ่งกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเศรษฐกิจปีหน้าก็คงต้องจับตาดูว่าจะเป็นทิศทางขาลงต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งต้องจับตาดูเรื่องการส่งออกเป็นสำคัญ เพราะเกี่ยวเนื่องและรับผลกระทบโดยตรงกับมาตรการเรียกเก็บภาษีทางการค้าของสหรัฐ ส่วนปัจจัยในประเทศ จับตาปัจจัยการเมือง ความต่อเนื่องของนโยบาย และ เสถียรภาพของรัฐบาล แต่หากมีการประกาศการยุบสภาแบบไม่ทันตั้งตัว จะเกิดผลกระทบเลวร้ายที่สุด เนื่องจากรัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มในการเจรจาการค้ากับสหรัฐ ซึ่งจะกระทบโดยตรงอย่างมากกับภาคการส่งออกไทย
ข่าวเด่น