
กูรูด้านเศรษฐกิจอาเซียนระบุ ภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตที่โดดเด่นท่ามกลางสภาวะการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ทั้งผลกระทบจากทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจเดิมและการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ แนะอาเซียนรวมตัวเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ แทนการเจรจาเพียงลำพังแต่ละประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจใหม่จากรากฐานความสัมพันธ์เดิมร่วมกับจีน และอินเดีย รวมถึงเปิดการเจรจาพหุภาคีกับกลุ่มประเทศในยุโรป อเมริกากลาง อาฟริกา เสริมความแกร่ง สู่การเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ศาสตราจารย์คิชอร์ มาห์บูบานี (Prof. Kishore Mahbubani) Distinguished Fellow สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวในงานสัมมนา ASEAN FORUM 2025 ที่จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association หรือ TMA) ว่า “อาเซียนเป็นประชาคมที่มีศักยภาพในการเติบโต เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนแนวคิดการค้าเสรี และเปลี่ยนกติกาทางเศรษฐกิจใหม่ ไปสู่การกีดกันทางการค้า โดยการนำประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ
อย่างที่ทุกคนทราบปัจจุบันเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย เพราะเราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นบ้าง โลกใหม่ในปัจจุบันเป็นโลกที่กำลังกลับหัวกลับหาง เราต้องรู้ว่าเราจะอยู่กับโลกในปัจจุบันอย่างไร สหรัฐฯ เคยเป็นผู้สร้างกติกาเศรษฐกิจการค้าเสรีเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเศรษฐกิจเสรีได้สร้างมูลค่าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเติบโตจาก 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 1985 เป็น 111 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024 ขณะที่เศรษฐกิจอาเซียน เติบโตจาก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1985 เพิ่มเป็น 26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
แต่ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนแปลงระเบียบโลกที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเมื่อ 40 ปีก่อน โดยการนำแนวคิดของการกีดกันทางการค้ามาใช้ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับเศรษฐกิจโลก และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กลุ่มประชาคมอาเซียน ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ โดยการรวมกลุ่มเจรจาแทนการเจรจาเพียงลำพัง เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ในขณะเดียวกัน ต้องนำการเปลี่ยนแปลงมาสร้างโอกาสให้กับอาเซียน”
โดยศาสตราจารย์คิชอร์ มาห์บูบานี ได้กล่าวถึง 3 ปัจจัยที่อาเซียนสามารถนำมาสร้างโอกาสในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า “ประเด็นแรก ในฐานะที่อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งน้อยที่สุดในโลก ทางด้านภูมิศาสตร์ อาเซียนเป็นศูนย์กลางที่สามารถจะเชื่อมกับประเทศเศรษฐกิจใหญ่สองประเทศคือ จีนและอินเดีย โดยรวมเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนเติบโตได้พอสมควร เมื่อปี ค.ศ. 2000 เศรษฐกิจญี่ปุ่นใหญ่กว่าอาเซียน 8 เท่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจญี่ปุ่นใหญ่กว่าอาเซียนเพียง 1.5 เท่า และปี 2030 เศรษฐกิจอาเซียนจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และจากสถิติจะเห็นว่าอาเซียนมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่ายุโรป เพราะยุโรปเผชิญกับสงครามยูเครน ผมได้ไปคุยกับเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ปีหนึ่งก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาบอกว่ายุโรปไม่รู้ว่าโลกเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง ทำให้ยุโรปสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ในขณะที่อเมริกาเหนือมีข้อตกลงการค้าเสรีกับแคนาดา เม็กซิโก กับสหรัฐ แต่ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น อเมริกาใต้ บราซิล ก็ไม่เติบโต ในขณะที่อาเซียนมีการเติบโตต่อเนื่อง และมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสของอาเซียนที่จะเป็นกลุ่มประเทศที่เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอื่นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน และ เศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ประเด็นที่สอง คือ เราเห็นโอกาสที่มีหลายประเทศจะร่วมมือกับอาเซียน เพราะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบัน 97% ของสินค้าที่นำเข้าระหว่างประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน ไม่มีการเสียภาษีระหว่างกัน เมื่อเราเอากำแพงภาษีระหว่างกันออก เราต้องสร้างโอกาสและคู่ค้าใหม่ๆ เสริมสร้างการค้าเสรีในภูมิภาคกับภูมิภาคอื่นๆ
และประเด็นที่สาม คือ จากสภาพแวดล้อมของอาเซียนทั้งสองประเด็น เป็นการสร้างโอกาสครั้งใหญ่ ที่อาเซียนจะนำความได้เปรียบไปสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยร่วมกับ 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้านของอาเซียน อย่างจีน และอินเดีย เพื่อสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ ถึงแม้ปัจจุบันจีน และอินเดีย ยังมีประเด็นความขัดแย้ง แต่ผมเชื่อว่าอาเซียนจะสามารถพัฒนาศักยภาพและสร้างความร่วมมือกับสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ในเอเชียได้ภายใน 10 ปี นับจากนี้ไป โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองประเทศ”

ทั้งนี้ นายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า “ถึงแม้อาเซียนจะมีศักยภาพในการเติบโต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่ส่วนตัวมองว่า อาเซียนยังคงมีปัญหาความขัดแย้งภายในอยู่ ไม่ว่าจะปัญหาในเมียนมาร์ ปัญหาไทย-กัมพูชา อาเซียนถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนไม่สามารถทำได้ดี คนในอาเซียนเองก็มีไม่ชอบคนในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น” นายพิศาลกล่าวและเพิ่มเติมว่า
“ส่วนที่มองว่าอาเซียนจะเป็นตัวเชื่อมอินเดียและจีน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้แต่ก็ยาก ส่วนตัวผมมองว่า อาเซียนต้องจัดการตัวเองให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ ผมก็อยากจะเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียนก็จะเติบโตและเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้”
 ที่ปรึกษาอาวุโส บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป .jpg)
ขณะที่ ดร. รานู ดายัล (Dr Ranu Dayal) ที่ปรึกษาอาวุโส บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป กล่าวในเวทีเดียวกันว่า “เราไม่มีทางรู้ว่า เกมทางเศรษฐกิจครั้งนี้ในระยะสั้นจะเป็นอย่างไรจากนโยบายที่กลับหัวกลับหางของสหรัฐอเมริกา แต่ผมเชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ มีการตกงานของคนอเมริกัน มีปัญหาทางการเงิน และสหรัฐฯ จะสูญเสียความเป็นผู้นำทั้งด้านเทคโนโลยีและการเงิน รวมไปถึงสหรัฐฯ จะไม่ใช่ผู้นำทางการค้าโลกอีกต่อไป สิ่งที่ผมเห็นคือจะมี 3 เครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้คือ จีน อินเดียและอาเซียน จะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ถึง 80-90% เราเห็นโอกาสที่ชัดเจนว่าทั้งสามกลุ่มก้อนจะร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ที่ผ่านมาอาจจะมีความขัดแย้งระหว่างจีนและอินเดีย แต่ผมมองว่า อาเซียนน่าจะมีบทบาทเป็นผู้ที่เชื่อมทั้งสองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
 ผู้อำนวยการบริหารสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (1).jpg)
ขณะที่ นายคริส ฮัมฟรีย์ (Mr. Chris Humphrey) ผู้อำนวยการบริหารสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน กล่าวว่า “ยุโรปให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้นหลังจากที่เผชิญกับนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของสหรัฐอเมริกา ยุโรปเริ่มมองหาโอกาสและความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ และอาเซียนเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับยุโรป ยุโรปต้องการที่จะเร่งให้การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรปกับประเทศในอาเซียน ทั้งไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ให้ประสบความสำเร็จ และยุโรปก็มองเห็นโอกาสในการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น
สิ่งที่อาเซียนต้องทำเพื่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับยุโรปคือ ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของประเทศสมาชิกอาเซียน ผนวกอาเซียนให้เป็นตลาดเดียว ซึ่งจะสร้างโอกาสการเติบโตให้กับอาเซียนและประเทศพันธมิตรที่เข้ามาลงทุนในอาเซียน จากการสำรวจของเราพบว่า 6 ใน 10 ของนักธุรกิจยุโรป สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียน เพราะอาเซียนมีจุดแข็ง ที่มีภาคีหลากหลาย ทั้ง จีน อินเดีย ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย ต่างเข้ามาลงทุนในอาเซียน จึงเป็นโอกาสสำหรับยุโรป ที่จะใช้อาเซียนเพื่อเชื่อมการลงทุนไปในภูมิภาคต่างๆ” นายฮัมฟรีย์ กล่าวสรุป
 คณบดีด้านเอเชีย ของ IMD .jpg)
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์มาร์ค กรีเวน (Prof Mark Greeven) คณบดีด้านเอเชีย ของ IMD ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงโอกาสในการตอกย้ำจุดยืนที่มีศักยภาพของอาเซียนว่า “ผมมีประสบการณ์การทำงานในประเทศจีนมากว่า 25 ปี ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงในจีน และความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีระหว่างจีนและอาเซียน และเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันของทั้งจีนและอาเซียนใน 5 ด้านด้วยกันคือ การขยายการลงทุนร่วมกันในเชิงกลยุทธ์ ความสามารถในการพัฒนาระบบการค้าการลงทุนร่วมกัน การสร้างตลาดใหม่ๆ การพัฒนาแพลตฟอร์มทางธุรกิจ และ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งฟินเทค(Fintech) รวมไปถึงนวัตกรรมด้านเอไอ ทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์ของอาเซียนกับจีน ที่ไม่เกี่ยวกับแรงงานต้นทุนต่ำ เป็นเรื่องนวัตกรรม ถ้าอาเซียนพร้อม จีนก็สามารถที่จะพัฒนาร่วมกับอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาธุรกิจร่วมกันมากกว่าธุรกรรมจีนพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับอาเซียน ต้องมองประเทศจีนให้เป็นพันธมิตร และพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน” ศาสตราจารย์กรีเวน กล่าว

โดยนายอบิจิต ดัดต้า (Mr. Abhijit Datta) Director of the Committee on South Asia, Middle East & Africa บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ให้ข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมเช่นกันว่า “อินเดีย เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5-6% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง มีโครงสร้างประชากรที่มีคนในวัยทำงานเฉลี่ยอายุที่ 29 ปี มากกว่าพันล้านคน จึงเป็นโอกาสสำหรับการค้า การลงทุน และอินเดียมีการพัฒนาเรื่องของนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี โดยมีธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นถึง 118 แห่ง เพราะอินเดียให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ในทางภูมิรัฐศาสตร์ อินเดียเป็นพันธมิตรกับทุกประเทศ เราต้องการสร้างความสมดุล กับประเทศจีนอาจจะเคยมีความขัดแย้งเรื่องชายแดนระหว่างกัน แต่ในปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับอาเซียน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเรามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างโครงข่ายการเชื่อมโยง กับประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้เกิดการค้าและการลงทุนร่วมกัน
ผมมองว่าโอกาสการลงทุนของอาเซียนในอินเดียมีมาก บริษัทไทยเข้าไปลงทุนในอินเดียจำนวนมาก และยังเป็นโอกาสในการสร้างโอกาสทางการค้าร่วมกันระหว่างอินเดียและอาเซียน” นายดัตต้ากล่าวสรุป
ภาคเอกชน มั่นใจ อาเซียน เป็นโอกาสสำหรับการลงทุน
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวในเวทีสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “ Ingredient for the Booming Economy | New Investment Opportunities” ในเวที ASEAN FORUM 2025 ว่า “อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีจุดเด่นในเรื่องความร่วมมือกันทั้งด้านการค้าและการลงทุน ปัจจุบันกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เข้าไปลงทุนในหลายประเทศในอาเซียน และเป็นโอกาสในการเติบโตในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน อุตสาหกรรมสีเขียว รวมไปถึงการพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านพลังงานสะอาด ไปจนถึงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ”
นายซารีบูอา ซีอาฮัน (Mr. Saribua Siahaan) ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแปซิฟิก กระทรวงการลงทุนและอุตสาหกรรมปลายน้ำ/ หน่วยงานคณะกรรมการประสานงานการลงทุน (BKPM อินโดนีเซีย) กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในอาเซียนว่า “ประเทศในกลุ่มอาเซียนเปิดรับโอกาสสำหรับการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างในประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนและพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามา เรามีแผนสร้างเมืองใหม่ที่กาลิมันตัน เพื่อรองรับการลงทุนและลดความแออัดจากการลงทุนในกรุงจาการ์ตา รัฐบาลอินโดนีเซียพร้อมเปิดโอกาสให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของทุกประเทศ และพร้อมเป็นประตูสู่อาเซียน
ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพัฒนาระบบที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียได้ง่ายขึ้น โดยให้ความสำคัญกับทุกอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว รวมไปถึงด้านการแพทย์ และพลังงานหมุนเวียน ผมมองว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน อาเซียนเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนที่จะเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาคในโลก” นายซารีบูอา ซีอาฮัน กล่าว
นายทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมยานยนต์ และสำนักบริการการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงความพร้อมของไทย ในการรองรับการเข้ามาลงทุนของประเทศต่างๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า “อีอีซี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ และสนับสนุนการลงทุนใน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานสะอาด และการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมบริการ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ประเทศไทยมีความร่วมมือกับกลุ่มอาเซียน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน เรามีความพร้อมในการพัฒนาระบบนิเวศน์ในภูมิภาคนี้ เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ไทยก็เหมือนกับอินโดนีเซีย มีกลไกเหมือนกัน เราพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายทรงวุฒิ กล่าวสรุป
ข่าวเด่น