เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : ฝันร้ายเกษตรกร "ผลไม้ไทย" ราคาตกต่ำสุดกว่าทุกปี จากปัจจัยเศรษฐกิจรุมเร้า


 

ราคาของผลไม้ไทยในช่วงเวลานี้นับว่าถูกอย่างมากจนน่ากังวล เพราะด้วยความที่ผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยนำออกมาเร่ขายเต็มตลาด ด้วยราคาที่ต่ำกว่าในรอบหลายปี อาจไม่ใช่การตกลงมาชั่วคราว แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าสถานการณ์การผลิตและการส่งออกผลไม้ไทยกำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพ มาตรฐาน และการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากจนเกินไป
 
ประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่อาศัยผลผลิตทางการเกษตรส่งออกขายไปยังตลาดต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเกิดสภาวะของปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับความต้องการบริโภคที่มีจำกัด ทำให้เกิดผลผลิตส่วนเกิน หรือในเชิงกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่ Supply มีมากกว่า Demand ก็ย่อมส่งผลให้ราคาของผลผลิตโดนกดราคาลงแรง กระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ตั้งแต่เกษตรกรไทย ภาคการจ้างงานงาน การส่งออก ไปจนถึงการกดดันการลงทุนจากการทรุดตัวของภาคการบริโภคในประเทศ
 
โดยตอนนี้กำลังเกิดสภาวะที่ผลไม้เศรษฐกิจหลักของไทยปี 2568 อย่างทุเรียน ลำไย มังคุด และมะม่วง มีราคาตกต่ำสุดในรอบหลายปี โดยสำหรับทุเรียน มีราคาต่ำสุดในรอบ 5 ปี ร่วงจากจุดสูงสุด 120 บาทในช่วงต้นฤดูกาล ตอนนี้เหลือไม่ถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนลำไย ที่มีคุณภาพเกรด AA มีราคาลดลงเหลือเพียง 8-9 บาทต่อกิโลกรัม หากคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ ราคาก็ลดลงเหลือเพียง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับมังคุด มีราคาตกต่ำเหลือเพียง 5 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่มะม่วง ราคาเหลืออยู่ที่ 3-5 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเกรดส่งออก ราคาตกเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท จากปีที่ผ่านมาอยู่กิโลกรัมละ 55 บาท ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปีเลยทีเดียว
 
โดยทาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ถึงสาเหตุสำคัญของปัญหาด้านราคาดังกล่าว มีที่มาจากปริมาณผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจหลักที่คาดว่าทั้งปี 2568 ปริมาณผลไม้หลักจะเพิ่มขึ้นทุกรายการรวมกว่า 21.8% ไปอยู่ที่ 3.66 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตกว่า 1.2 เท่า จากแรงหนุนของปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น 6.1% โดยวิเคราะห์จากผลไม้ 3 รายการหลักของไทย คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งรวมคิดเป็น 76% ของผลผลิตผลไม้ทั้งหมด จำแนกออกเป็นทุเรียนเพิ่มขึ้น 1.68 ล้านตัน หรือ 30.7%, ลำไยเพิ่มขึ้น 1.57 ล้านตัน หรือ 10.8% และมังคุดเพิ่มขึ้น 4.1แสนตัน หรือ 35.1% ส่งผลให้ยอดขายผลไม้เศรษฐกิจดังกล่าวในปี 2568 คาดว่าจะลดลง 4.8% ไปอยู่ที่ 204,146 ล้านบาท จากแรงฉุดด้านราคาเป็นหลัก
 
โดยในส่วนของตลาดผลไม้ (แบ่งเป็นส่งออกในสัดส่วน 79% และตลาดในประเทศ 21%) ยอดขายจากการส่งออกจะเป็นปัจจัยฉุดสำคัญต่อยอดขายรวม โดยลดลง -6% จากปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่ไทยมีการพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูง ที่ความความต้องการจากจีนจะส่งผลต่อยอดขายผลไม้ของไทยอย่างมาก และในตอนนี้เองผลไม้หลักอย่างทุเรียนก็กำลังเผชิญกับคู่แข่งที่เข้าแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีนมากขึ้น เช่น เวียดนาม ที่มีต้นทุนต่ำ และมีระบบการส่งออกที่ยืดหยุ่น หรือมาเลเซีย ก็มีการเจาะตลาดพรีเมียมด้วยทุเรียนพื้นเมืองอย่างทุเรียนมูซานคิง อีกทั้งจีนยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ทุเรียนไทยบางส่วนที่มีการปนเปื้อนสารตกค้าง เช่น แคดเมียม และ BY2 (Basic Yellow 2) ซึ่งเป็นสารต้องห้ามในอาหาร ถูกระงับการนำเข้า นอกจากนี้ การที่ภาครัฐไทยไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ขาดการคัดแยกที่แม่นยำ (30% ของทุเรียนส่งออกไม่สุกพอ) และไม่มีเครื่องวัดที่มีคุณภาพ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดจีนมากขึ้น จนทำให้ไทยจากที่เคยครองตลาดจีนในสัดส่วน 95% ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 57% ในเวลา 2 ปี ส่วนลำไยที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกหลักเช่นกันนั้น ผู้รับซื้อรายใหญ่จากจีน ก็มักมีอำนาจในการกำหนดราคา ยิ่งด้วยตอนนี้การผลิตลำไยนอกฤดูที่มากขึ้น ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงที่ความต้องการไม่สูงมากนัก ผลักดันให้ราคายิ่งลดต่ำลง
 
ขณะที่มังคุดนั้น โดยปกติแล้วมีการส่งขายไปยังประเทศกัมพูชา แต่พอมีการปิดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม - บ้านผักกาดใน จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกมังคุด ก็ไม่สามารถที่จะส่งออกไปได้ บางส่วนจำเป็นต้องปล่อยให้สุกคาต้น เพราะผลผลิตล้นตลาด และนอกจากนี้จากการปิดด่าน ทำให้ประสบปัญหาด้านแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานไม่ได้อีกด้วย
 
และนอกเหนือจากผลไม้เศรษฐกิจหลักที่มีราคาต่ำลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่ฉุดราคาผลไม้อื่น ๆ ในตลาดลดต่ำตามลงไปด้วย เช่น แก้วมังกร ที่แม้จะไม่ใช่ผลไม้หลักของไทย แต่ก็สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยเช่นกัน แต่ตอนนี้เกษตรกรกำลังได้รับผลกระทบ เพราะขายให้กับพ่อค้าคนกลางหน้าสวนได้เพียงกิโลกรัมละ 5 บาทเท่านั้น ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ครั้นจะหาทางออกด้วยตลาดในประเทศ ก็นับว่าไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดขายผลไม้สดในประเทศจะเพิ่มขึ้นไม่มากราว 0.3% จากความต้องการบริโภคและกำลังซื้อที่มีจำกัดตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตชะลอลง ขณะที่ผู้บริโภคชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยมีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศในหมวดผลไม้ทั้งหมดปี 2568 คาดว่าจะโตชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 5.4%  
 
เรียกได้ว่าสถานการณ์ราคาผลไม้ที่ตกต่ำนั้น มีเหตุจากปัจจัย   ต่าง ๆ ที่รุมเร้ากันอยู่ในคราวเดียว ฉะนั้นสำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ที่นอกเหนือจากปัจจัยทางธรรมชาติแล้ว อาจต้องพิจารณาในส่วนของการควบคุมคุณภาพผลผลิตให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รัฐบาลอาจจำเป็นต้องผลักดันการใช้เทคโนโลยี ตรวจหาสารตกค้าง ความสุกแบบแม่นยำ หรือต้องกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบล้งเกษตรกรร่วมกันหากมีการละเมิด นอกจากนี้จำเป็นต้องลดการพึ่งพาจากประเทศจีนไปหาตลาดประเทศอื่นทดแทนเพื่อกระจายความเสี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจต่อรองเข้ามากดดันเกษตรกรไทยอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

LastUpdate 06/07/2568 21:38:13 โดย : Admin
07-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 7, 2025, 8:03 am