คณะอนุกรรมการฯ เผย “รองนายกฯ ประเสริฐ” เตรียมเปิดศูนย์ส่วนหน้าฯ 14 ก.ค. นี้ มุ่งลดผลกระทบ 4 จังหวัดภาคอีสาน จากน้ำโขงล้นตลิ่งปีนี้ พร้อมย้ำหน่วยงานปรับแผนการจัดสรรน้ำตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง และดูแลเกษตรกรในพื้นที่ ภาคกลางที่ฝนลดลงในระยะนี้

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการคาดการณ์ข้อมูลสภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) พบว่า ช่วงสัปดาห์นี้ปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ในขณะที่พื้นที่ภาคกลางจะมีปริมาณฝนลดลง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำให้แหล่งน้ำต่าง ๆ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่การเกษตร อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐจะดูแลและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนในภาคกลางจะกลับมามากกว่าค่าปกติอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน ประกอบกับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนที่จะไหลลงมาสมทบในช่วงเวลาเดียวกัน จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้คาดการณ์สถานการณ์แม่น้ำโขงว่าจะมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อ 4 จังหวัดในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่บางส่วนของ สปป.ลาว สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) จึงได้ดำเนินการเชิงป้องกัน ไว้ล่วงหน้า โดยเสนอจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานด้านอุทกภัยและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (Ad-Hoc Joint Flood and Hydropower Coordination) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกับ สปป.ลาว และ MRCS ซึ่งมีกำหนดการประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 นี้

“ในห้วงที่ผ่านมา สทนช. ยังได้ลงพื้นที่บูรณาการงานร่วมกับจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงเพื่อเร่งเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อให้มี ความพร้อมรับมือมากที่สุด อาทิ การสร้างทำนบชั่วคราวในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมวลน้ำจากแม่น้ำโขงที่หนุนสูงไม่ให้เอ่อล้นเข้าสู่ลำน้ำ การป้องกันพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน รวมถึงการจัดทำทะเบียนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก เป็นต้น เพื่อเตรียมการอพยพได้อย่างรวดเร็วทันเวลาหากเกิดสถานการณ์ และในวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดหนองคาย เพื่อบริหารจัดการมวลน้ำในพื้นที่เสี่ยง ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในแม่น้ำโขงที่อาจเกิดขึ้นและสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” ดร.สุรสีห์ กล่าว


เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการแจ้งเตือนภัยประชาชนซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หน่วยงานต่าง ๆ จะดำเนินงานตามแผนอย่างเคร่งครัด โดย สทนช. จะออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์ล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อให้หน่วยงานนำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนประชาชน พร้อมทั้งได้ประสานกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. ในการใช้ระบบเรดาร์ติดตาม


คาดการณ์ปริมาณฝนในลักษณะเฉพาะจุดเพื่อแจ้งเตือนระยะสั้นภายใน 4-6 ชั่วโมง ให้ทันต่อสถานการณ์และแม่นยำใกล้เคียง ความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ได้เน้นย้ำให้มีการใช้ระบบเตือนภัยในทุกรูปแบบ ทั้งการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast (CB) การใช้หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ไปจนถึงการสื่อสารผ่านเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง มากที่สุด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงแหล่งน้ำสำคัญต่าง ๆ อาทิ บึงบอระเพ็ด หนองหาร กว๊านพะเยา หนองกุดทิง เพื่อเตรียมพื้นที่ว่างรองรับน้ำหลาก ช่วยชะลอน้ำและหน่วงน้ำในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ติดตามและปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้ได้มากที่สุดด้วย
ข่าวเด่น