แบงก์-นอนแบงก์
"วิทัย รัตนากร" ใกล้เข้าเส้นชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนใหม่


 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 15 ก.ค.2568 เป็นอีกวันที่ต้องลุ้นระทึกกับการพิจารณาวาระสำคัญเรื่องการแต่งตั้ง “ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” คนที่ 22 ว่า ระหว่าง ดร.รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้การ ธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน นั้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเลือกรายชื่อผู้ใดเสนอเข้ารับการอนุมัติจาก ครม.

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ รมว.คลัง จะตัดสินใจเลือกเสนอชื่อ นายวิทัย รัตนากร เข้ารับการอนุมัติจาก ครม. ซึ่งหาก ครม.มีมติเห็นชอบ จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า การได้รับการเสนอชื่อของนายวิทัย รัตนากร เกิดจากการแสดงวิสัยทัศน์ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีและถูกต้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน 

โดยนายวิทัยได้แสดงวิสัยทัศน์ที่สำคัญเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย จากที่ผ่านมา ธปท.ยึดโยงอยู่กับ ”เป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting) เป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจไม่โต หากปล่อยไปแบบนี้อีกไม่เกิน 5 ปี เศรษฐกิจไทยจะพังพินาศทั้งหมด ผู้คนจะตกงาน ส่งผลกระทบไปทั้งประเทศ

รวมทั้งได้มีการตั้งข้อสงสัยและเสนอแนวทางแก้ไข กรณี ธปท.กำกับธนาคารพาณิชย์อย่างไร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโตน้อยโตช้า แต่ธนาคารพาณิชย์มีผลกำไรเป็นจำนวนมาก และยังทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจเป็นหนี้ท่วม 

นอกจากนี้ การที่ รมว.คลัง เลือกนายวิทัย เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธปท. เพราะมองว่านายวิทัยน่าจะสอดประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ได้ดีกว่าผู้ว่าการ ธปท คนอื่นๆ ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน นายวิทัย เป็นนักบัญชีและนักการเงินมืออาชีพ เมื่อตอนได้รับคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินก็เกิดจากการแสดงวิสัยทัศน์ที่ชนะผู้สมัครคนอื่น และไม่เคยมีข้อครหาใดๆ เกิดขึ้นเลยว่าเป็นการใช้เส้นสายทางการเมือง ซึ่งการให้นายวิทัยเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ก็เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าได้สร้างสิ่งใดบ้างให้กับธนาคารออมสินและประชาชนคนไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ว่าการ ธปท. เชื่อว่า นายวิทัย จะมีแนวคิดและนำเสนอแนวทางใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงิน ของ ธปท. เพื่อพลิกฟื้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับผลงานของนายวิทัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นายวิทัยมีหลักการในการทำงานเป็นตัวของตัวเอง และเป็นผู้บริหารในภาคการเงินที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม โดยกำหนดบทบาทธนาคารออมสิน ให้เป็น ”ธนาคารเพื่อสังคม“ หรือ Social Bank ด้วยการคืนกำไรให้สังคม โฟกัสการดำเนินงานของออมสิน “ช่วยคน” มากกว่ามุ่งทำ “กำไรสูงสุด” โดยนำกำไรบางส่วนไปสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ทั้งช่วยคนและสังคม เห็นได้จากการกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ จากที่ในตลาดคิดอัตราดอกเบี้ยสูงอยู่ที่ 28% ให้ลดลงเหลือเพียง 18-20% หรือการจัดตั้งบริษัทมีที่มีเงิน เพื่อทำให้คนมีที่ดินได้ไปต่อในช่วงสภาพคล่องขาดมือ ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาด,การตั้งบริษัทเงินดีดี เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด,การร่วมทุนตั้งบริษัทบริษัทสินทรัพย์ ARI AMC เพื่อช่วยคนไทยช่วยผู้ประกอบการให้รักษาสินทรัพย์ไว้ได้ ด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรมและผ่อนปรนกว่า AMC ที่อื่นๆในตลาด

นอกจากนี้ จากประเด็นข้อถกเถียงเรื่องความเป็นอิสระจากการเมือง ก็จะเห็นได้ว่า รัฐบาลในสมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความพยายามให้ธนาคารออมสินสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งจัดวงเงินกู้ให้รัฐบาล และทำระบบ IT แต่นายวิทัยก็ยืนหยัดบนหลักการ ไม่ทำตามแรงกดดันของรัฐบาล เนื่องจากผิดระเบียบและกฎหมาย ที่ธนาคารออมสินจะทำเช่นนั้นได้ รวมถึงที่ผ่านมาธนาคารออมสินไม่เคยต้องเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลหรือของคนใกล้ชิดรัฐบาล


LastUpdate 12/07/2568 15:51:44 โดย : Admin
15-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 15, 2025, 9:27 am