
มาตรการภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 2568 นี้นั้น สำหรับไทยเองกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอข้อตกลงกับสหรัฐที่ยึดหลักสมดุลทางการค้า และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก อีกทั้งภาครัฐก็มีการเตรียมความพร้อมด้วยมาตรการเยียวยา SME เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีทรัมป์ที่อาจทำให้การส่งออกไทยหดตัวลงถึง 30% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นี้ หากเกิดกรณีที่ไทยยังโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง 36%
จากที่ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการเผยแพร่จดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจาก 14 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยก่อนหน้านี้ว่าจะยังคงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ทำให้ “ทีมไทยแลนด์" ได้มีการเดินหน้ายื่นข้อเสนอเพิ่มเติม เพื่อหาทางสรุปดีลด้วยเป้าหมายการโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุด หรือเป็นอัตราที่ได้เปรียบกับประเทศคู่แข่ง เพราะไม่เช่นนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้คาดการณ์ว่า จะทำให้ช่วง 5 เดือนหลัง ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2568 เป็นต้นไป การส่งออกไปยังสหรัฐจะหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 30% ซึ่งกระทบกับผู้ประกอบการไทย SME ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า 12 กลุ่มหลัก หรือประมาณ 3,700 ราย และมีโอกาสลุกลามไปยังกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ภายในประเทศ อันทำให้กระทบต่อไปยังการลงทุนในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะลดลงถึง 15%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาภาษีสหรัฐ หรือ ทีมไทยแลนด์ เปิดเผยว่า การเจรจากับสหรัฐครั้งนี้ คล้ายกับเป็นการเจรจาที่เป็นข้อเสนอฝ่ายเดียว เพราะการได้เห็นบทเรียนจากประเทศอื่นที่ได้เจรจาไปก่อนหน้านี้ ทำให้ไทยเข้าใจความต้องการหลักของสหรัฐ คือ “หลักสมดุลทางการค้า” หรือ การเจรจากับสหรัฐต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐเป็นสำคัญ โดยได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปให้พิจารณาภายใต้กรอบ Preferential Trade Agreement (PTA) ว่าด้วยการขยายการเปิดตลาดให้กับสินค้าของสหรัฐเพิ่มเป็น 69% (จากปัจจุบันอยู่ที่ 63-64%) โดยไทยจะมีการเปิดตลาดสินค้าสหรัฐชนิดที่ไม่เคยนำเข้ามาขายที่ไทยมาก่อนในอัตราภาษีนำเข้า 0% เช่น ปลานิล ลำไย และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย ซึ่งแม้ว่าสหรัฐอาจไม่ได้มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าดังกล่าว แต่ก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาดี และคาดว่าจะไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงไม่กระทบกับการทำ FTA ของประเทศต่างๆ ที่ทำกับไทย
ในส่วนของการสวมสิทธิสินค้า ที่สหรัฐมีการเพ่งเล็งประเด็นนี้อย่างมากนั้น ซึ่งสหรัฐต้องการเพิ่มการใช้วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่มีการผลิตในประเทศไทย (Local Content) ที่มีโอกาสเพิ่มจาก 40% ในปัจจุบัน เป็น 60-80% และมีเงื่อนไขมากขึ้นเพื่อป้องกันสินค้าโดนสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า (เช่นสินค้าเวียดนามแปะป้าย Made in Thailand เพื่อใช้สิทธิในนามไทยสำหรับการส่งออกในอัตราภาษีที่ต่ำกว่า) แม้อาจทำให้ต้นทุนการผลิตในไทย บวกกับต้นทุนจากสหรัฐพุ่งสูงมากขึ้น แต่นายพิชัยมองเป็นโอกาสที่ไทยจะเปลี่ยนวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จากปัจจุบันเอยู่ที่ 58-60% (ส่งออกไปสหรัฐ 18% ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง) รวมถึงขยายตลาดไปยังประเทศใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ภาครัฐได้เตรียมมาตรการรองรับผู้ประกอบการภาคการผลิต โดยเฉพาะ SME ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทางภาษีดังกล่าว โดยล่าสุดได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนวงเงิน 2 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.01% จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อส่งเสริมสภาพคล่อง การลงทุน การจ้างงาน และปรับเปลี่ยนการบริการจัดการสินค้าให้กับผู้ประกอบการเยียวยาหากเกิดความเสี่ยงด้านภาษีสหรัฐขึ้นมา นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีการเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม อย่างการหาตลาดใหม่ให้กับผู้ประกอบการ เช่น ตลาดลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรป หรือการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้า และการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เปิดตลาดซื้อขาย เป็นต้น
ข่าวเด่น