
จากบทเรียนความยากลำบากของวิกฤตโควิด-19 และการเข้าสู่สงครามการค้ากับสหรัฐ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เกิดการระเบิดขึ้นมาอย่างรุนแรงนั้น ทางการจีนจึงได้เริ่มดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564-2568) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาลงไป โดย ณ วันนี้ เศรษฐกิจจีนมีการส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจจีน มีมูลค่าพุ่งสูงเกิน 35 ล้านล้านหยวน และมีมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลสูงเกิน 10 ล้านล้านหยวน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 นั้น นับเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศทั้งในระดับชาติ ระดับมณฑลและระดับล่างอย่างจริงจัง โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบ “เศรษฐกิจวงจรคู่” หรือ Dual Circulation ที่เน้นสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายใน ผ่านการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
เพราะจากบทเรียนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการส่งออก ผนวกกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับสหรัฐ ทั้งสงครามทางการค้า และสงครามเทคโนโลยีด้านไมโครชิป ที่สหรัฐได้กีดกันการเติบโตทางอำนาจของจีนตั้งแต่ช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยแรกนั้น ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องหันเหจากการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนเป็นหลัก กลับมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ สร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่มีจีนเป็นแกนหลัก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและด้านการผลิต เพื่อยืนบนขาตัวเองได้อย่างแข็งแรงขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงจากต่างประเทศ
ในส่วนการเชื่อมโยงกับตลาดโลก จีนก็กำลังดำเนินแผนให้ตนเองกลายเป็นมหาอำนาจด้านการบริโภคของโลก โดยอาศัยพลังซื้อจากผู้บริโภคภายในจีนที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ เป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติหันมาค้าขายกับจีนมากขึ้น หรือก็คือทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะพึ่งพาพลังซื้อของจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อจีนในการกำหนดระเบียบโลกในยุคถัดไป ลดทอนอำนาจสหรัฐที่ยึดสถานะของการเป็นผู้บริโภครายใหญ่ในการแทรกแซงทิศทางการค้าโลก และกดดันเศรษฐกิจจีนอย่างมาตรการตอบโต้ภาษีสินค้านำเข้าก่อนหน้านี้
โดยจากมาตรการกระตุ้นที่ชัดเจนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังนั้น เช่น การเติมเงินเข้าสู่ระบบกว่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในประเทศ หรือการจัดตั้งกองทุนรีไฟแนนซ์ เพื่อหนุนการบริโภคภายในผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ทยอยเยียวยาพิษจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการลงทุนด้านนวัตกรรมและยกระดับเทคโนโลยีของตนเอง ทำให้เศรษฐกิจจีนมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยล่าสุด ทางการจีนเปิดเผยผลสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจีนตอนนี้มีแนวโน้มสูงเกิน 35 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 159 ล้านล้านบาท และมูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลของจีนโดยรวมในปี 2567 สูงเกิน 10 ล้านล้านหยวน หรือราว 45.5 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ
โดยความสำเร็จนี้มีผลจากพลังขับเคลื่อนจากนวัตกรรมและเอกชน ที่จีนทุ่มงบด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเกือบ 50% หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน ที่ทำให้จำนวนผู้ประกอบการเอกชนพุ่งแตะ 58 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับปี 2563 และสามารถครองตลาดเรือและอุปกรณ์วิศวกรรมทะเลนอกชายฝั่งกว่า 50% ของโลก นับเป็นการแสดงถึงความแข็งแกร่งของจีนแม้เผชิญผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่และการกลั่นแกล้งทางการค้าของสหรัฐอย่างหนักหน่วงก็ตาม
ข่าวเด่น