เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "BI ลดดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 5.25% หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังดีลการค้าสหรัฐฯ ช่วยลดแรงกดดันค่าเงิน"


 

ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 5.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 ก.ค.2025 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเปราะบางของอุปสงค์ในประเทศและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน BI ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์ โดยปัจจัยสนับสนุนการลดดอกเบี้ย มีดังนี้

· แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แม้อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.87% จาก 1.6% ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของ BI ที่ 1.5-3.5% สะท้อนว่าแรงกดดันด้านราคายังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากอุปทานสินค้าเกษตรที่ลดลงส่งผลต่อราคาพืชผัก รวมถึงราคาค่าโดยสารเครื่องบินและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงในช่วงปิดเทอม (รูปที่1)

รูปที่ 1: BI ปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในรอบปีขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
 

 
 
 
· อินโดนีเซียได้ดีลการค้ากับสหรัฐฯ หนุนบรรยากาศเศรษฐกิจ โดยการบรรลุข้อตกลงลดภาษี (Reciprocal Tariffs) ที่เก็บจากสินค้าอินโดนีเซียจาก 32% เหลือ 19% ช่วยลดความเสี่ยงด้านการค้านักลงทุนคลายความกังวลส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น โดยดัชนี Jakatar Composite Index (JCI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 7,192 จุด เพิ่มขึ้น +51.55% ณ วันที่ 16 ก.ค.2025

· ค่าเงินรูเปียห์ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องหลังอ่อนค่ามากสุดในเดือน เม.ย. 2025 โดยล่าสุดค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 16,281 รูเปียห์/ดอลลาร์ฯ (16 ก.ค.2025) สะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนหนุนความมั่นใจด้านเสถียรภาพ ช่วยเปิดทางให้ BI ในนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม (รูปที่ 2)

รูปที่ 2: ดีลการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนคลายกังวลเงินทุนไหลเข้าหนุนค่าเงินรูเปียห์แข็งค่า
 
 
 
 

· กำลังซื้อในประเทศยังไม่พื้นเต็มที่ สัญญาณจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดค้าปลีกยังอยู่ในระดับต่ำ (รูปที่ 3) สะท้อนว่าเศรษฐกิจในประเทศยังต้องการแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากฝั่งการบริโภคภาคครัวเรือน โดยยอดขายอาหารและเครื่องดื่มเติบโตช้าลง ยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิง ยานยนต์/ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์กลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงปิดเทอม

รูปที่ 3: ดัชนีความเชื่อมั่นการบริโภคและยอดค้าปลีกปรับตัวระดับต่ำ
 
 
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2025 มีแนวโน้มที่ BI จะลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า หากอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และค่าเงินรูเปียห์เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2568 เวลา : 15:14:38
19-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 19, 2025, 5:44 pm