เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ "เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ขณะที่จีนมุ่งกระตุ้นภาคการบริโภคที่ยังอ่อนแอ"


สหรัฐฯ

เฟดคงดอกเบี้ยที่ 4.25-4.50% ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% แต่ประกาศลดการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) จากเดิมดูดซับเดือนละ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เหลือ 5 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ Dot Plot ยังคงชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสปรับลดอีก 2 ครั้ง ในปี 2568 นอกจากนี้ เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 และ 2569 ลงสู่ระดับ 1.7% (เดิมคาด 2.1%) และ 1.8% (เดิมคาด 2.0%) ตามลำดับ ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ในปี 2568 ถูกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.8% (เดิมคาด 2.5%)

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจาก (i) ดัชนี PMI ภาคบริการที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 เดือน (ii) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น (iii) ตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างที่ชะลอตัว และ (iv) การบริโภคที่อ่อนแอ นอกจากนี้ การที่เฟดมองว่าความเสี่ยงจากนโยบายภาษีต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวคาดว่าจะเป็นการเปิดทางไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในระยะถัดไป โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีอีก 0.75% สู่ระดับ 3.50-3.75% ณ สิ้นปี
 
 

 
ยูโรโซน
 
ภาพเศรษฐกิจยูโรโซนยังอ่อนแอ ท่ามกลางความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้า ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ชะลอตัวมากสุดในรอบ 6 เดือนที่ 2.3% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ชะลอตัวมากสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ 2.6% ขณะเดียวกันประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คริสติน ลาการ์ด ระบุว่าความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลง 0.3-0.5% และผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้นอกเหนือจากภาคบริการที่โตช้าลง รวมถึงการบริโภคและการลงทุนที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันการอนุมัติแผนการผ่อนปรนมาตรการจำกัดหนี้ (debt brake) ครั้งใหญ่ของสภาเยอรมนีในการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจัดตั้งกองทุนมูลค่า 5 แสนล้านยูโร คาดว่าจะเริ่มส่งผลบวกอย่างชัดเจนต่อเยอรมนีในปีหน้า ส่วนผลบวกต่อยูโรโซนยังค่อนข้างจำกัดและยังต้องอาศัยเวลาอีกนาน จากเหตุผลดังกล่าววิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.00% ในปีนี้ แม้อาจไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยในทุกครั้งการประชุมท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2%

 
จีน
 
จีนเตรียมประกาศแผนกระตุ้นการบริโภคเพิ่ม ท่ามกลางสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ยอดค้าปลีกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ขยายตัวสูงขึ้นจาก 3.7% YoY ในเดือนธันวาคมเป็น 4% แต่ยังต่ำกว่าการเติบโตช่วงก่อนโควิด (ปี 2560-2562) ซึ่งอยู่ที่ราว 7-11% ค่อนข้างมาก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวสูงขึ้นจาก 87.5 ในเดือนมกราคมเป็น 88.4 ขณะที่ธนาคารบางแห่งในเซี่ยงไฮ้และหางโจว ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลเหลือต่ำสุดที่ 2.58% จากราว 10% เมื่อสองปีก่อน

ภาคการบริโภคของจีนยังอ่อนแอ ขณะที่ภาคการส่งออกในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอลงจากสงครามการค้า ดังนั้น การหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลักในปีนี้ของรัฐบาล จึงเป็นความหวังสำคัญในการประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ราว 5% โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน การอุดหนุนการแลกซื้อสินค้าใหม่ การสร้างเสถียรภาพในตลาดทุนและอสังหาริมทรัพย์ และการผลักดันภาคธนาคารให้ขยายการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในภาคการบริโภคอาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่คาดหวัง หากพิจารณาความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งต่ำกว่าก่อนโควิดถึงราว 30%

 
เศรษฐกิจไทย
 
มูลค่าส่งออกในช่วงต้นปีอาจเติบโตสูงจากปัจจัยชั่วคราว ขณะที่ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เพื่อประคองภาคอสังหาริมทรัพย์

การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังมีปัจจัยท้าทาย แม้มูลค่าส่งออกเดือนกุมภาพันธ์เติบโตสูงในอัตราเลขสองหลักติดต่อ กันเป็นเดือนที่ 2 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 26.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ 14.0% YoY (สูงกว่าตลาดคาดที่ 9.7%) หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัว 14.6% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+51.3%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+32.8%) แผงวงจรไฟฟ้า (+24.8%)  และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน (+4.5%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ ข้าว (-34.3%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-13.2%) และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (-3.7%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ  จีน และสหภาพยุโรป ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่น อาเซียน5 และ CLMV กลับมาหดตัว สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มูลค่าการส่งออกขยายตัว 13.8% 

การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์เติบโตต่อเนื่องจากเดือนมกราคม (+13.6% YoY) สอดคล้องกับความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และมีปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าของสหรัฐฯ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์  การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าจึงยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยดังกล่าว โดยวิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบจากปัจจุบันกรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 20% และจีนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบางรายการจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10-15% อาจทำให้การส่งออกและ GDP ของไทย เพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน +0.43%  และ +0.03% ตามลำดับ แต่ผลบวกกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้าเท่านั้น และที่สำคัญผลลบกระจายไปยังหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้า 25% กับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯรวมทั้งไทย ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยจะพลิกจากบวกเป็นลบ โดยการส่งออกและ GDP ของไทยจะลดลงจากกรณีฐาน -1.6% ถึง -1.7% และ -0.06% ถึง -0.36% ตามลำดับ

 
ธปท.ชี้เศรษฐกิจแต่ละภาคส่วนฟื้นตัวแตกต่างกันมากขึ้น ล่าสุดผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราวเพื่อช่วยภาคอสังหาริมทรัพย์ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนกุมภาพันธ์ ชี้ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อนเพียงเล็กน้อย (ปี 2567 โต 2.5%) และต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.9% นอกจากนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนขยายตัวแตกต่างกันมากขึ้น (K-shape) ภาคบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ส่วนภาคการผลิตกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับยานยนต์ และภาคอสังหาฯมีพัฒนาการที่แย่ลง

มุมมองกนง.ต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาดและมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนมากขึ้น นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้กนง.ผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และล่าสุดธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-value: LTV) โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันเป็นร้อยละ 100 สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งกรณี (i) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (ii) มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป สำหรับการผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราวสำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 – 30 มิถุนายน 2569 ทั้งนี้ เพื่อประคับประคองภาคอสังหาฯที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากกำลังซื้อในประเทศลดลง และช่วยบรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูงได้บ้าง อีกทั้งยังเป็น targeted policy เพื่อลดความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบวงกว้างเพิ่มเติม
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มี.ค. 2568 เวลา : 13:13:55
24-04-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (23 เม.ย.68) บวก 9.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,153.77 จุด

2. ประกาศ กปน.: 28 เม.ย. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันตก)

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (23 เม.ย.68) บวก 12.76 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,156.81 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,320 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,420 เหรียญ

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (22 เม.ย.68) ร่วง 5.9 เหรียญ นักลงทุนชะลอซื้อทองคำ หลังการค้าสหรัฐ-จีน ส่งสัญญาณคลี่คลาย

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (22 เม.ย.68) พุ่ง 1,016.57 จุด นักลงทุนคลายกังวลสงครามการค้าคลี่คลาย

7. ประเทศไทยอากาศร้อน และร้อนจัดในภาคเหนือและภาคกลาง โดยมีฝนฟ้าคะนองในภาคใต้ 40% ภาคตะวันออก 20% กรุงเทพปริมณฑล และภาคอื่นๆ 10%

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (23 เม.ย.68) ลดลง 850 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 54,400 บาท

10. ตลาดหุ้นไทยเปิด (23 เม.ย. 68) บวก 9.48 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,153.71 จุด

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 เม.ย.68) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์

12. ตลาดหุ้นไทยปิด (22 เม.ย.68) บวก 9.34 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,144.05 จุด

13. ประกาศ กปน.: 28 เม.ย. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนประชาธิปก

14. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (22 เม.ย.68) ลบ 0.06 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,134.65 จุด

15. ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง โดยมีฝนฟ้าคะนอง 10-20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2025, 10:40 am